การทำความเข้าใจแนวคิดของ “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” (Private Property) มีความสำคัญอย่างมากในการทำความเข้าใจเพื่อก้าวข้าม “ทุนนิยม” เนื่องจากแก่นสารของทุนนิยมนั้นผูกติดอยู่กับแนวคิดของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล จะเห็นได้ว่า “ชนชั้นผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” (นายทุน) ล้วนใช้ชีวิตอยู่ได้โดยรายได้จากการทำงานของชนชั้นแรงงาน เพียงเพราะนายทุนเหล่านี้มี “ความเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์”

ในการทำความเข้าใจแนวคิดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เราต้องทำความเข้าใจกรรมสิทธิ์ในรูปแบบอื่นๆด้วยเช่นกัน

กรรมสิทธิ์ส่วนตัว (Personal Property)– ของใช้ส่วนตัวที่ไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหากำไร เช่น สบู่,แก้วกาแฟ,ร้องเท้า 

กรรมสิทธิ์สาธารณะ (Public Property) – โดยส่วนมากมีรัฐเป็นเจ้าของ เช่น ถนน,สวนสาธารณะ,อาคารทางราชการ,จัตุรัสสาธารณะ ฯลฯ

กรรมสิทธิ์ส่วนรวม (Common Property) – สรรพสิ่งที่ในทางทฤษฎีแล้วไม่ได้เป็นของใครทั้งสิ้น เช่น ท้องทะเล,ออกซิเจนในอากาศ ฯลฯ 

กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (Private Property) – กรรมสิทธิ์ที่สร้างผลกำไร เช่น โรงงาน,ที่ดิน,บ้าน หรือแม้แต่ เพลง กับ รายการทีวี 

หากเราเข้าใจตามนี้จะเห็นได้ว่า “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล”(Private property) เป็นคนละอย่างกับ  “กรรมสิทธิ์ส่วนตัว” (Personal property) ของสามัญชนทั่วไป เช่น บ้านของคุณ,เฟอร์นิเจอร์,เสื้อผ้า หรือ แปรงสีฟันของคุณ ซึ่งไม่ได้นับเป็น “ปัจจัยการผลิต” (Means of production) – เนื่องจากสิ่งของดังกล่าวไม่ได้นำไปใช้ในการสร้างผลกำไร ในทางกลับกัน กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ต่างหากที่พวกเราต้องเพ่งเล็ง เพราะมัน คือ ปัจจัยการผลิตที่ถูกใช้ในสถานที่ทำงานต่างๆ โดยมีนายทุนเจ้าของกรรมสิทธิ์เหล่านี้ เป็นผู้ควบคุม และ ใช้งานมัน

ไม่ว่าจะเป็นการขูดรีดเหล่าแรงงานหรือการแสวงหาผลกำไร เหล่านายทุนจำเป็นต้องใช้ “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” ในการสร้างกำไร พวกเราจะยกตัวอย่างของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในตัวพิมพ์หนา ดังนี้ :

นายทุนเป็นเจ้าของโรงงานผลิตรถยนต์ นายทุนเป็นเจ้าของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานผลิตรถยนต์ เหล่าแรงงานเข้ามาและทำการผลิตรถยนต์ โดยแลกกับค่าจ้าง นายทุนเป็นเจ้าของ รถยนต์เหล่านั้น ในนามของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยแรงงานไม่ได้เป็นเจ้าของ แม้ว่าเหล่าแรงงานเป็นผู้ลงมือทำการผลิตรถยนต์ 

ต่อมานายทุนก็ได้ขายรถยนต์ไปเพื่อแปรเปลี่ยนมาเป็นผลกำไร 

ในทุกๆขั้นตอนดังกล่าว นายทุนสามารถจ่ายงานไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนทำ โดยที่จริงๆแล้วนายทุนไม่ได้ “ทำงาน” อะไรเองเลย นี่แหละ คือ การสร้างกำไรผ่านกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของพวกเขา

กรรมสิทธิ์เชิงรับ/รายได้เชิงรับ (Passive Property/Passive Income) 

เมื่อเราพูดถึง กรรมสิทธิ์เชิงรับ กับ รายได้เชิงรับ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็ คือ เจ้าที่ดิน นั่นเพราะเจ้าที่ดินครอบครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในรูปแบบของที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง เช่น ถ้าเจ้าที่ดินให้เช่าบ้าน โดยคิดค่าเช่าจากผู้มาพักอาศัย จากนั้นก็จ้างคนมาดูแลบริหารบ้านและการเก็บค่าเช่า จะเห็นได้ว่าเจ้าของที่ดิน (บ้าน) สามารถจะนอนเกาพุงโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ในขณะที่มีเงิน(ค่าเช่า)ไหลเข้าบัญชีธนาคารไปเรื่อยๆ

พวกเราควรตระหนักว่าการกระทำเช่นนี้ คือ พฤติกรรมของปรสิต พวกเขาดึงเงินของผู้คนไร้กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล นำไปให้ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เรียกได้ว่าเป็นปลิงดูดเลือดของสังคมมนุษย์อย่างแท้จริง

ในตัวอย่างที่เรายกมาเราเรียก “บ้าน” ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ว่าถ้าบ้านดังกล่าวไม่ได้ถูกให้เช่า แต่เป็นบ้านที่เจ้าของพักอาศัยเอง เช่นนั้นแล้วบ้านก็จะถูกจัดอยู่ในประเภทกรรมสิทธิ์ส่วนตัว (เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงผลกำไร)

เจ้าที่ดิน อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดูชั่วร้ายเป็นพิเศษ แต่การวิเคราะห์รายได้เชิงรับผ่านเลนส์กรรมสิทธิ์เชิงรับสามารถขยายไปได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตัวอย่าง เช่น แม้ว่าเจ้าของกิจการจะทำงานในร้านรวงของตัวเอง แต่เขาก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และ ปัจจัยการผลิต หมายความว่าเขาก็ยังสามารถสกัดเอาผลกำไรจากแรงงานที่ตัวเองจ้าง และ กิจการนั้นๆ ด้วยความที่เขาเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าว 

รัฐ และ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

หนังสือคอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต้ ได้ชี้ให้เห็นว่าเหล่าแรงงานต้อง “ยึดปัจจัยการผลิต” (Seize the means of production) หมายความว่าพวกเราต้องยึดปัจจัยการผลิตคืนจากชนชั้นนายทุน เพื่อให้กลับมาอยู่ใต้การบริหารจัดการของชนชั้นแรงงานเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน,บ้านเช่า หรืออื่นๆ 

ซึ่งถ้าพวกเราจะกระทำการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงบทบาทของรัฐ ที่มีไว้เพื่อปกป้อง 

“กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” 

ใครกันล่ะ ที่เหล่านายจ้างจะโทรไปฟ้องถ้าหากเหล่าคนงานล็อคอาคารไว้ ไม่ให้นายจ้างเข้าไป ?

ใครกันล่ะ ที่เหล่าเจ้าที่ดินจะแจ้ง หากผู้เช่าอาศัยไม่ยอมจ่ายค่าเช่า แต่ก็ไม่ยอมย้ายออก ?

ใครกันล่ะ ที่เป็นผู้บังคับใช้กฏหมายอันเกี่ยวเนื่องกับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเหล่านี้ ? 

คำตอบก็ คือ ตำรวจ ผู้ซึ่งได้รับ “ความชอบธรรม” มาจากรัฐ นั่นเอง 

รัฐภายใต้ทุนนิยมเป็นเพียงเครื่องมือในการค้ำยันระบบทุนนิยม ผ่านการปกป้องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ตำรวจบังคับใช้กฏหมายที่เขียนโดยศาล กฏหมายเหล่านี้มีไว้เพื่อปกป้องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แน่นอนว่าเงินภาษีที่คุณสียไปนั้น ได้กลายเป็นค่าพิทักษ์รักษากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของชนชั้นนายทุน และในเวลาต่อมาก็เป็นเครื่องผลิตความร่ำรวยให้แก่พวกมัน 

ทรัพย์สินทางปัญญา / สิทธิบัตร / ลิขสิทธิ์ (Intellectual Property / Patents / Copyrights)

ตอนนี้เราก็เข้าใจกันแล้วว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นมีไว้เพื่อการแสวงหาผลกำไร ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้กว้างขึ้นมาอีก เราจะเห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกกายภาพที่เราจับต้องได้เท่านั้น หากแต่ครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพย์สินทางปัญญา คือ ประเภทย่อยของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่รวมเอาผลผลิตของมนุษย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ในทางกายภาพเข้าไปด้วย มันอาจจะเป็นรายการทีวี,เพลง,หนังสือ,แอพบนโทรศัพท์ของคุณ หรือแม้แต่ยารักษาโรคที่สามารถช่วยชีวิตผู้คน แน่นอนล่ะว่าคุณสามารถสัมผัสเม็ดยา หรือ หนังสือได้ แต่ไอเดียเบื้องหลังการสร้างสิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้

กรรมสิทธิ์ของผองเรา 

จริงๆแล้ว ไม่มีบริษัทใด หรือ แม้แต่ใครสักคน สามารถจะเคลมความเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ของตนได้อย่างสนิทใจ เนื่องจากทุกสรรพสิ่งที่ถูกสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์ ล้วนเป็นผลจากการพยายามส่วนรวมของมนุษยชาติ หาใช่ความพยายามของใครคนหนึ่งคนใดไม่

จอห์น เลนนอน และ พอล แม็กคาร์ตนีย์ เป็นคนแต่งเพลง “Hey jude” จริงๆรึเปล่า ?

พวกเขาเป็นคนประดิษฐ์คอร์ด G หรือ คอร์ด D ขึ้นมาเองยังงั้นหรือ ? 

พวกเขาคิดค้นกีต้าร์แล้วสอนตัวเองให้เล่นเป็นยังงั้นหรือ ?

พวกเขาคิดค้นกลไลทางเทคนิคในการสร้างสายกีต้าร์ขึ้นมารึเปล่า ?

พวกเขาสกัดแร่เหล็กขึ้นจากผืนแผ่นดินแล้วตีเส้นมันขึ้นเป็นสายกีต้าร์เองยังงั้นหรือ ?

แน่นอนว่าไม่.

ถึงกระนั้นพวกเขาก็เคลมว่าเพลงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของพวกเขา แม้ว่าจะมีผู้คนหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา (ร่วมกันสกัดเหล็กจากดิน,คิดค้นสเกลทางดนตรี,คิดค้นภาษา,คิดค้นกีต้าร์ ฯลฯ-ผู้แปล) ได้พยายามร่วมกัน จนทุกวันนี้จอห์น และ พอล สามารถเขียนเพลง “นา..นา..น๊า นา น๊า นาาา” ขึ้นมาได้ 

พวกเราถูกสอนกันมาว่า โทมัส เอดิสัน เป็นผู้คิดค้นหลอดไฟขึ้นมา แล้วใครเป็นคนสอนวิชาการใช้ไฟฟ้าให้เขา ? 

ใคร คือ ผู้คนนับล้านที่เรามองไม่เห็น ผู้คนที่ทำวิจัย ผู้คนที่ร่วมพัฒนาแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ให้ โทมัส เอดิสัน ได้เอามาต่อยอดปรับใช้ ? 

ใครเป็นผู้ผลิตอาหารให้พวกเขาทาน ?

ใครเป็นผู้ถักทอเครื่องนุ่งห่มให้พวกเขา ?

ใครเป็นผู้หักร้างถางพงเพื่อให้พวกเขาได้ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ? 

เมื่อเราประจักษ์แจ้งตามนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าความเป็นมนุษย์,ผลผลิต อันก่อเกิดจากภูมิปัญญาสะสมของมนุษยชาติทั้งปวง ย่อมไม่สมควรจะถูกเคลมว่าเป็นของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง,มนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างความเป็นเจ้าของบนฐานของสิ่งจับต้องได้ หรือ บนฐานของทรัพย์สินทางปัญญา

พวกเรา และ บรรพชนของผองเรา ต่างร่วมมือกันสร้างโลกใบนี้ขึ้นมาด้วยกัน

และ มันจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของมนุษยชาติ 

หาใช่เพียงกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนใด ๆ