การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพในตะวันตกนั้นเป็นไปไม่ได้ (โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร!)

ประเทศในซีกโลกเหนือแทบไม่มีการผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุอยู่เลย มีเพียงเงินทุนในการจ้างเพื่องานบริการ หนี้ และการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ การมีอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพในซีกโลกเหนือนั้นวางรากฐานอยู่บนแรงงานในซีกโลกใต้ พร้อม ๆ ไปกับการรีดเค้นพวกเขาอย่างไม่หยุดยั้ง ก่อเกิดเป็นข้อสงสัยขึ้นมาว่า การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ประสบความสำเร็จในซีกโลกเหนือ สามารถสร้างเศรษฐกิจที่จะมาแทนที่กระฎุมพีระดับโลกในปัจจุบันได้หรือไม่ ? หรือมันจะสร้าง “กระฎุมพีกรรมาชีพ ” (proletarian bourgeoisie) ระดับโลกขึ้นมาใหม่แทน ? และหากเป็นเช่นนั้น มีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ?

ส่วนที่ 1 – ไม่มีปัจจัยการผลิตอยู่ในซีกโลกเหนือ

ภาคส่วนทางการเงิน (Financial Sector)

ภาคการเงินในเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีขนาดใหญ่ถึง 500% ของ GDP โดยประมาณ ทุนมหาศาลเกือบทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยหนี้สินและสินทรัพย์จากต่างประเทศ (ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันจะทำให้ GDP ของมันมีสัดส่วนมากกว่า 100% ของ GDP โดยรวม) นอกจากนี้ ยังไม่รวมทุนที่ไม่ได้สำแดงจำนวนมหาศาล ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มในส่วนของ 500% นั้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน การผลิตสินค้าวัตถุที่เป็นสิ่งของจริง ๆ ในสหราชอาณาจักรนั้นมีเพียงเล็กน้อยมาก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.8% ในสัดส่วนของเศรษฐกิจทั้งหมด (เมื่อเทียบกับทุนของภาคส่วนทางการเงิน)

ชัดเจนว่า วิถีการผลิตหลักในสหราชอาณาจักรในปัจจุบันคือบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรทั้งระบบกำลังมุ่งตรงไปหา แรงงานส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรได้รับค่าจ้างจากการผลิตซ้ำหรือการผลิตสินค้าอวัตถุ (immaterial) ในการบริการภาคการเงิน กล่าวคือ แรงงานส่วนนี้ที่แม้ว่าจะไม่ได้ดำเนินการโดยตรงในภาคการเงิน กำลังมุ่งทางอ้อมไปสู่การทำให้สหราชอาณาจักรเป็นสถานที่สำหรับเก็บสะสมทุนจำนวนมหาศาลที่ทั้งสะดวก ปลอดภัย และมั่นคง ในขณะที่ตัวเลขเหล่านี้ชัดเจนเป็นพิเศษในสหราชอาณาจักร ทว่า ทุกประเทศที่มีเศรษฐกิจการบริการแบบหลังอุตสาหกรรม (post-industrial) ก็ดำเนินไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงเป้าประสงค์ของบทความนี้ เราจะเรียกประเทศที่มีเศรษฐกิจลักษณะแบบนี้ว่า ‘ซีกโลกเหนือ’

ความเป็นจริงของทุนที่ว่านี้ นำไปสู่คำถามที่กระอักกระอ่วนที่ผู้ต่อต้านทุนนิยม ‘ซีกโลกเหนือ’ จำต้องเผชิญ คำถามดังกล่าวมีอยู่ว่า เราจะยึดครองปัจจัยการผลิตได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีปัจจัยการผลิตดำรงอยู่ ? มีเพียงหนี้สินและทุนซึ่งผูกติดอยู่กับสินทรัพย์ที่เป็นวัตถุที่ส่วนใหญ่ผลิตจากส่วนอื่น ๆ ของโลก (ทางประเทศในซีกโลกใต้ – รวมถึงจีน) เหล่านี้เป็นสถานที่ที่มีการผลิตสินค้าวัตถุเป็นส่วนมาก และเป็นแหล่งที่วัตถุดิบถูกรีดเค้นออกไป การรีดเค้นและการผลิตวัตถุเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนในซีกโลกเหนือสะดวกสบายและคงอยู่ได้ กล่าวคือ การมีชีวิตอยู่ของผู้คนในซีกโลกเหนือทั้งหมดขึ้นอยู่กับกิจการของประเทศในซีกโลกใต้ หรือประเทศกำลัง (ด้อย) พัฒนาโลกที่สามทั้งหมด ที่คอยจัดหาวัตถุดิบและทรัพยากรให้ประเทศโลกที่หนึ่งรีดเค้นและขูดรีด ทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่เป็นปัจจัยความจำเป็นพื้นฐาน

น่าแปลกที่สหรัฐอเมริกายังคงมีการผลิตวัสดุที่เป็นสินค้าจริงในปริมาณที่พอสมควร (รวมถึงการใช้จ่ายทางทหารจำนวนมาก) แม้ว่าแรงงานที่ผลิตวัตถุสินค้าจริงส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ การผลิตแบบวัตถุก็ลดลงเมื่อสหรัฐลดภาคส่วนอุตสาหกรรม การผลิตอาหารในรัฐทางใต้และเขตเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การผลิตสินค้าในระดับเล็ก (low level manufacturing – เช่น การผลิตที่ไม่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่) นั้นกำลังลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ www.bankofengland.co.uk

คำตอบเดียวสำหรับคำถามดังกล่าว คือให้ชนชั้นแรงงานในซีกโลกเหนือ “ยึดครองปัจจัยการผลิต” ที่เป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และจับมันเป็นตัวประกัน เพื่ออ้างสิทธิ์ในเงินทุนจำนวนมหาศาลที่ภาคส่วนทางการเงินนั้นสนับสนุน และหากงานครั้งมหึมานี้ประสบความสำเร็จและสังคมนิยมได้ก่อตั้งขึ้นในซีกโลกเหนือ มันก็จะทำให้เกิดภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกครั้งใหม่ กล่าวคือเศรษฐกิจซีกโลกเหนือใหม่ จะยังคงถือครองทรัพย์สินเหล่านั้นในประเทศในซีกโลกใต้ ที่ควบคุมคนงานในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งเศรษฐกิจของซีกโลกเหนือต้องพึ่งพาเพื่อความอยู่รอดทางวัตถุและสินค้า ซึ่งเป็นไปตามห่วงโซ่อุปทานของวัตถุสินค้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก และจึงก่อให้เกิดรูปแบบของลัทธิสังคมนิยมเฉพาะสำหรับชนชั้นนายทุนโลกเท่านั้น สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในรัฐชาติสังคมนิยม หรือชุมชนอิสระแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐรูปแบบใด พวกเขาก็ยังคงทั้งพึ่งพาและขูดรีดแรงงานจากประเทศในซีกโลกใต้ทั่วโลก เพื่อความอยู่รอดของพวกเขาเอง

วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือการโอนความมั่งคั่งและกรรมสิทธิ์มหาศาลจากเศรษฐกิจในซีกโลกเหนือไปทางใต้ การยกเลิกหนี้ทั้งหมด ปล่อยทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับคนงาน และปิดห่วงโซ่อุปทานการขูดรีด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งนี้จะส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพในซีกโลกเหนือถูกตัดออกโดยสิ้นเชิง เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า “เศรษฐกิจซีกโลกเหนือ” นั้น แทบไม่มีการผลิตวัตถุที่เป็นสินค้าจริงของตัวเอง เพื่อพยุงตัวเอง และท้ายที่สุด จึงไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

อันที่จริง รากฐานของการผลิตเชิงวัตถุสินค้าในซีกโลกเหนือส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายลง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเงินของทศวรรษ 1970/80 (โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร) ดังนั้น การส่งต่อความมั่งคั่งนี้จะทำให้ซีกโลกเหนือตกต่ำกลับสู่สภาพที่คล้ายกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่มีขนาดประชากรแบบยุคหลังอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมของสหราชอาณาจักรที่คิดเป็นเพียง 0.1% ของเศรษฐกิจของประเทศ (เมื่อเทียบกับทุนของภาคส่วนทางการเงิน) โดยประเทศจำเป็นต้องนำเข้าอาหารมากกว่า 80% และสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 75% การโอนกรรมสิทธิ์และความมั่งคั่งดังกล่าว จะเป็น

การกลับหัวกลับหางของเปเรสทรอยก้า (perestroika)2 ที่นำไปสู่ความทุกข์ทรมาน และการต่อต้านการปฏิวัติอย่างไม่ต้องสงสัย

การหลีกเลี่ยงเปเรสทรอยก้า

แม้แต่การพิจารณาว่าชนชั้นแรงงานใหม่ทางซีกโลกเหนือจะทำหน้าที่ขจัดความสูญเปล่ามหาศาลในระบบเศรษฐกิจของพวกเขา ทั้งของจำเป็นและเงินทุนจำนวนมหาศาลที่วางไว้บนสินค้าไร้ค่าทางวัตถุ (การนำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุดของสหราชอาณาจักรคืออัญมณีในปัจจุบัน) แต่นี่ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่กล่าวมาข้างต้น ที่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวของการผลิตวัตถุสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนสินค้าวัตถุในระบบเศรษฐกิจของซีกโลกเหนือ นอกจากนี้ ข้อสันนิษฐานที่ว่าซีกโลกเหนือจะ “ปลดหนี้” ที่บังคับใช้กับประเทศในซีกโลกใต้ ในปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อเช่นกัน หนี้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเจ้าของวิถีการผลิต ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแครอทและไม้เรียว3 สำหรับประเทศในซีกโลกใต้ การปลดหนี้ก็เหมือนกับการปล่อยทรัพย์สิน ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าชนชั้นนายทุนจะไม่มีวันทำโดยปราศจากการใช้กำลัง

กิโยตินคอของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ดี คำกล่าวของฝ่ายปฏิกริยาฝ่ายขวาที่ว่า “ลัทธิสังคมนิยมจะทำให้คุณจน” นั้นถูกต้องอย่างยิ่งสำหรับซีกโลกเหนือในบริบททั่วโลก ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับความจริงที่ไม่สะดวกใจจะยอมรับมัน ไม่ว่าพวกเขาจะอ้างว่าเป็นพวกเสรีนิยมปลดแอกหรือต่อต้านจักรวรรดินิยมก็ตาม พวกฝ่ายซ้ายในซีกโลกเหนือจะไม่ปล่อยมือจากแรงงานในประเทศในซีกโลกใต้ให้หลุดมือไป และจะปล่อยให้กิโยตินตกลงบนคอของพวกเขาเอง เพราะชนชั้นนายทุนทั้งหลายจะไม่ยอมปล่อยวิถี/ปัจจัยการผลิตของพวกเขาหลุดมือไปง่าย ๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ ความมั่นคงทางและผลประโยชน์ทางวัตถุของคนงานที่รับค่าจ้าง (wage worker) โดยเฉลี่ยของสหราชอาณาจักรก็ยังแตกต่างกับชนชั้นแรงงานในประเทศในซีกโลกใต้อยู่มาก ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ข้อสรุปที่ไม่ค่อยสบายใจนัก ว่าการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นแรงงานที่แท้จริงดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในซีกโลกเหนือ และการยึดวิถีการผลิต (ที่จุดที่มีการผลิตจริง) ในประเทศในซีกโลกใต้ เป็นเทคนิคการปฏิวัติรูปแบบเดียวที่เป็นไปได้สำหรับการปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก

ในที่นี้ เราต้องพิจารณาถึงบทบาทของสถาบันทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ของรัฐ เช่น ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งตั้งอยู่ในและดำเนินการโดยทุนในซีกโลกเหนือ และการจะเกิดกี่ปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมัน เช่นเดียวกับทุนในภาคการเงินของซีกโลกเหนือ สถาบันทางการเงินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการผลิตระดับโลก และถ้าตอนนี้สถาบันทางการเงินเหล่านั้นอยู่ภายใต้แรงงานเศรษฐกิจใหม่ของซีกโลกเหนือ มันจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของพวกเขาในฐานะชนชั้นนายทุนระดับโลก โดยได้รับมรดกสืบทอดเป็นหนี้สินและทรัพย์สินประเทศในซีกโลกใต้ ดังนั้น เราจึงต้องไม่ให้ข้อเรียกร้องที่ต่อต้านทุนนิยมของซีกโลกเหนือ ที่ต้องการให้ล้มเลิกสภาวะหลังการปฏิวัติ นั้นเกิดขึ้น

เราสามารถสันนิษฐานได้อย่างถูกต้องว่าการสั่นคลอนทางการเมืองในวงกว้างทางซีกโลกเหนือจะมีผลกระทบบางอย่างในประเทศซีกโลกใต้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการคาดการหรือตีความว่าผลกระทบนั้นจะเป็นอย่างไร หากการปลดปล่อยประเทศซีกโลกใต้นี้เกิดขึ้นจริง ชาวซีกโลกเหนือทั้งหลายจึงทำได้เพียงหวังว่าผู้ที่พวกเขาขูดรีด แสวงประโยชน์ มาเป็นเวลานานจะสงสารอดีตผู้กดขี่ของตน และยอมให้เกิดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านได้ อีกครั้ง ถ้าให้ถามฝ่ายซ้ายชาวซีกโลกเหนือคนใดก็ตามว่าพวกเขาจะยอมให้ชนชั้นนายทุนมีช่วงเปลี่ยนผ่านของการเปลี่ยนมือของทุนดังกล่าวหรือไม่ และคุณคงจะถูกหัวเราะเยาะและเล่าเรื่องตลกแบบเรื่องกิโยตินนี้หลายเรื่อง !

ส่วนที่ 2 – การทำให้ไข้วเขว

ความเข้าใจในทุน

การโต้เถียงนี้ดูเหมือนจะไม่คุ้นหูรู้จักในฝ่ายซ้ายชาวซีกโลกเหนือทั้งหลาย เรื่องที่เกี่ยวข้องที่สุดในขณะที่ค้นคว้าหัวข้อนี้ไม่ใช่ความน่ากลัวของการค้นพบ แต่เป็นความยากลำบากในการติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง จริง ๆ แล้วข้อมูลมันอยู่ตรงหน้า แต่ยากต่อการค้นหาและตีความ ดูเหมือนว่าฝ่ายซ้ายชาวซีกโลกเหนือล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในองค์ประกอบแรกสุดของการต่อต้านทุนนิยม ซึ่งก็คือการเข้าใจทุน ในขณะที่ค้นคว้าหาข้อมูลดิบที่อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรนั้น ไม่มีการรายงานข่าวจากสื่อที่ต่อต้านทุนนิยมเกี่ยวกับเงื่อนไขเหล่านี้ ที่เดียวที่พวกเขาได้รับการตีพิมพ์คือในวารสาร Bank of England และบล็อกที่เกี่ยวข้องกับการเงินจำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของบทความวิจัยทางวิชาการ ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียเงิน เพียงแต่สามารถค้นชื่อของผู้เขียนและชื่อบทความได้เท่านั้น ส่วนหากอยากจะอ่านฉบับเต็มก็ต้องเสียเงิน

ผลผลิตทางเศรษฐกิจและความสับสน

บางที หากเราประเมินสถานการณ์ด้วยความสุจริตใจ ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจทำให้เข้าใจผิดได้อย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ปรากฏว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบัน เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 10 ของโลก แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตวัสดุเพียงเล็กน้อยก็ตาม แน่นอนว่าเป็นเพราะการส่งออกบริการ จึงได้รับการจัดอันดับดังกล่าว กล่าวคือ การส่งออกนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ “อวัตถุ” ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้แรงงาน “อวัตถุ” บางอย่างอาจเป็น “การสร้างความรู้” ที่จำเป็น เช่น การวิจัยทางการแพทย์ แต่การส่งออกส่วนใหญ่ของสหราชอาณาจักรนั้น เป็นบริการทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีผลผลิตเป็นวัตถุจริง

www.worldstopexports.com

ยังมีความสับสนเพิ่มเติมอีก เมื่อประเมินผลผลิตทางเศรษฐกิจเทียบกับ GDP ผลผลิตทางเศรษฐกิจคือ ระดับการผลิตของเศรษฐกิจ (ทุนถูกสร้างขึ้นเท่าใด) ในขณะที่ GDP เป็นเพียงปริมาณเงินทุนภายในเศรษฐกิจ เช่นนี้ เมื่อคุณค้นหาใน Google “ภาคส่วนทางการเงินของสหราชอาณาจักรมีขนาดใหญ่เพียงใด ?” คุณจะพบการอ้างอิงที่ไม่มีที่สิ้นสุดของผลผลิตทางเศรษฐกิจของภาคส่วนทางการเงิน ซึ่งค่อนข้างน้อย เพียง 6.9% ต่อปี นี่เป็นเพราะว่าทุนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สร้างเงินทุนเพิ่มเติม และภาคส่วนทางการเงินของสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่เพียงแค่สะสมทุน มากกว่าที่จะสร้างผลผลิตที่มีนัยสำคัญใด ๆ ของความมั่งคั่งที่แท้จริง

รูปแบบอื่น ๆ ของการใช้แรงงานที่อวัตถุ เช่น ศิลปะ สื่อ วารสารศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา ฯลฯ ล้วนแต่ให้ผลผลิตในรูปแบบของตนเอง เช่นเดียวกับภาคบริการที่สำคัญหรือภาคการเพิ่ม/พัฒนาประชากร เช่น การขนส่ง โรงพยาบาล และโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบนี้ในปัจจุบัน เช่นในสหราชอาณาจักร พื้นที่เหล่านี้เป็นเพียงค่าแรงที่จ่ายให้กับภาคการเงิน ดูดซับเอาผลผลิตทั้งหมด และนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจด้วยตัวมันเอง กล่าวโดยย่อ บริการทางการเงินนั้นค้ำจุนและกำกับดูแลเศรษฐกิจทั้งหมด โดยไม่มีที่ว่างให้ดำเนินการนอกระบบ วิถีการผลิตหลักจึงเป็นบริการทางการเงิน กิจการเช่น ร้านกาแฟ รถเมล์ โรงพยาบาล ช่องทีวี ร้านเสื้อผ้า นั้นสามารถประทังชีวิตชนชั้นกรรมาชีพชาวซีกโลกเหนือได้เล็กน้อยเท่านั้น ให้มีชีวิตที่ค่อนข้างปลอดภัยและสบายพอตัว โดยขณะที่ทุนจำนวนมหาศาลเหล่านี้ถูกเก็บไว้ด้วยอาณัติโดยปริยาย

แม้แต่การส่งออกวัตถุสินค้าต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักรยังเป็นเรื่องราวที่ถูกทำให้เข้าใจบิดเบี้ยว เช่นการส่งออกวัสดุหลักของประเทศของสหราชอาณาจักรคือ เครื่องจักร ยานพาหนะ และคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ประกอบในสหราชอาณาจักรเท่านั้น โดยวัตถุดิบ ส่วนประกอบต่าง ๆ และแรงงานนั้น จำเป็นต้องนำเข้าและสกัด ขูดรีด มาจากที่อื่น รวมถึงการแปรรูปและการขนส่ง หากไม่มีงบประมาณด้านเงินทุนจำนวนมาก ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะประเมินตัวเลขเบื้องหลังการนำเข้า วัตถุดิบก่อนการประกอบ หรือวัตถุดิบที่ ‘กึ่งสำเร็จรูป’ ว่าเป็นเท่าไรแน่ อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า หากปราศจากห่วงโซ่อุปทานที่ขูดรีดจากประเทศในซีกโลกใต้ เพื่อรักษาบทบาทการประกอบของสหราชอาณาจักรนั้น อุตสาหกรรมการผลิตในสหราชอาณาจักรทั้งหมดก็จะยุติลงอย่างแน่นอน

น่าแปลกที่สหราชอาณาจักรและประเทศซีกโลกเหนืออื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ นั้นจ้างหรือ outsource แรงงานบริการอวัตถุจำนวนมากพอ ๆ กับแรงงานวัตถุปกติ ซึ่งโดยหลักแล้วจะส่งไปอินเดีย เพื่อทำงานการธนาคาร โทรคมนาคม และบริการสื่อ จากนั้นบริการเหล่านี้จะถูกนำเข้ากลับไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร (แม้ว่าจะไม่ถือเป็นการนำเข้าอย่างเป็นทางการ) และนับเป็นการทำการตลาดเป็นสินค้าอวัตถุที่ผลิตในประเทศของตนเอง

ซึ่งแหล่งนำเข้าหลักของสหราชอาณาจักรคือจีน ตามมาด้วยเยอรมนี สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคบริการมากกว่า แต่ยังมีสินค้าที่เป็นปัจจัยและส่วนประกอบสำคัญต่อการอยู่รอดและความสะดวกสบายของแรงงานในสหราชอาณาจักร วัตถุดิบในสินค้าเหล่านี้มาจากแหล่งเดียวกันและเป็นไปตามห่วงโซ่อุปทานระดับโลกแบบเดียวกันที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งอาศัยการขูดรีดเอาวัตถุดิบและแรงงานในประเทศซีกโลกใต้ที่ราคาถูก

การประเมินมูลค่า

เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่เกณฑ์ปัจจุบันที่ใช้ในการวิเคราะห์ความมั่งคั่ง ได้จัดให้ประเทศทางซีกโลกใต้ที่ถูกสกัดเอาวัตถุดิบและแปรรูปวัตถุดิบให้กับประเทศที่ในโลกเหนือ ถือเป็นพื้นที่ที่มี ‘เศรษฐกิจที่ยังไม่พัฒนา’ การเปรียบเทียบที่น่าสนใจคือเมียนมาร์และลักเซมเบิร์ก ซึ่งมี GDP ของประเทศใกล้เคียงกัน ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวอย่างของประเทศที่มีภาคการเงินที่ใหญ่กว่าสหราชอาณาจักร เมียนมาร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดปานกลางถึงใหญ่ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและกำลังแรงงานจำนวนมาก ถือว่าไม่ได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการส่งออกที่สำคัญของพวกเขาเป็นวัตถุดิบ (ที่เป็นวัตถุจริง) ทั้งหมด ดังนั้นในระดับสากล เมียนมาร์อยู่ในระดับเดียวกับลักเซมเบิร์กในแง่ของ GDP แม้ว่าลักเซมเบิร์กจะมีประชากรเพียง 1% ของเมียนมาร์และ 0.3% ของที่ดินทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในระดับบุคคล พลเมืองโดยเฉลี่ยในเมียนมาร์ถือเพียง 1% ของความมั่งคั่งของชาวลักเซมเบิร์กโดยเฉลี่ย (GDP ต่อหัว) หากเป็นเช่นนี้ การที่จะให้คนงานค่าจ้างจากสองประเทศนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันจึงเป็นเรื่องเหลวไหลอย่างชัดเจน การเปรียบเทียบนี้ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นแรงงานในท้องถิ่นในลักเซมเบิร์กไม่ใช่ชนชั้นแรงงาน แต่ทำให้เห็นชัดถึงความคลุมเครืออย่างสมบูรณ์ของความเป็นจริงของวัสดุทั่วโลกและความเหลื่อมล้ำในการผลิตแบบอวัตถุ หากจะกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละประเทศหรือในกรอบเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แม้ว่าจะมีการปรับปรุงภายในประเทศบ้าง ก็ย่อมยังมีความแตกแยกทั่วโลกอย่างมหึมานี้

สิ่งนี้เน้นให้เห็นถึงบทบาทที่ชัดเจนของ “ชนชั้นแรงงานอภิชนาธิปไตยในระดับโลก (global labour aristocracy)” ในระบบเศรษฐกิจที่มีอำนาจเหนือกว่าในปัจจุบัน แท้จริงแล้ว พวกฝ่ายซ้ายชาวซีกโลกเหนือส่วนใหญ่ดูเหมือนจะปฏิเสธโดยสิ้นเชิง หรือไม่มองว่ามันได้เกิดสิ่งที่เรียกว่าชนชั้นแรงงานอภิชนาธิปไตยในระดับโลก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าชนชั้นแรงงานในลักเซมเบิร์กและเมียนมาร์ไม่ได้ถูกขูดรีดอย่างเท่าเทียมกัน แม้แต่เรื่องนี้ก็เป็นที่ยอมรับของเลนินในปี 1917 ใครก็ตามที่มาจากประเทศในซีกโลกใต้ หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก็จะยอมรับว่าการปฏิเสธนี้เป็นเรื่องเหลวไหล

ความไขว้เขวของวัตถุ

การประเมินว่าซีกโลกเหนือขึ้นอยู่กับความจำเป็นของวัตถุดิบจากประเทศในซีกโลกใต้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะอาหารและสินค้าทั้งหมดถูกวัดมูลค่าด้วยมูลค่าตลาดทุนนิยม เนื่องจากสถิติการค้าดังกล่าววัดเป็นสกุลเงิน มากกว่าการใช้แรงงานหรือความจำเป็นทางวัตถุ ดังนั้นสินค้าฟุ่มเฟือย (ที่ไม่จำเป็น) อย่างไวน์คุณภาพสูงจากฝรั่งเศสจึงถือว่ามีค่ามากกว่าสิ่งของจำเป็น ‘พื้นฐาน’ อย่างข้าวจากประเทศไทย เนื่องจากความสับสนที่ทำให้ไขว้เขวเหล่านี้ ทำให้ในสถิติเศรษฐกิจร่วมสมัยทั้งหมดฝรั่งเศสเป็นแหล่งอาหารนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร* อย่างไรก็ตาม แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประเมินว่าสินค้านำเข้าเหล่านี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมากเพียงใด หรือที่สำคัญกว่านั้นคือสินค้าสำคัญที่ผ่านกระบวนการแปรรูปในฝรั่งเศสด้วยวัตถุดิบที่มาจากที่อื่น ที่นี่เราจะต้องคำนึงถึงเครื่องจักรที่ใช้ในการแปรรูปด้วย โดยเฉพาะแรงงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างและบำรุงรักษาเครื่องจักรนั้น

แม้แต่อาหารที่ปลูกในประเทศในฝรั่งเศสก็ยังต้องพึ่งพาแรงงานตามฤดูกาลจากภูมิภาคที่มีรายได้น้อย โดยปกติในแอฟริกาเหนือ ในขณะที่ในสวีเดนโดยทั่วไปคือประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่เข้มงวดแนบมากับโปรแกรมการทำงานตามฤดูกาล เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานที่มีรายได้น้อยจะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในแกนกลางของจักรวรรดิของประเทศซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นการผกผันของรูปแบบการเป็นทาสแบบเก่าที่คนงานไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากดินแดน ซึ่งในปัจจุบัน พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่เช่นกัน

ห่วงโซ่อุปทานที่เป็นโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จึงควรถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศในซีกโลกใต้ การพึ่งพาอาศัยประเทศในซีกโลกใต้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐต่าง ๆ ในซีกโลกเหนือทำให้เสี่ยงที่จะเกิดการต่อต้านลุกฮือขึ้นในประเทศในซีกโลกใต้ ซึ่งการลุกฮือนั้นมีศักยภาพมากกว่าที่จะทำลายเศรษฐกิจซีกโลกเหนือ สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นจุดควบคุมห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว ซึ่งสถานที่ที่เป็นจุดควบคุมนั้นก็มีหลายแห่ง เช่น คลองสุเอซและปานามา ช่องแคบฮอร์มุซ บับอัล-มันดับ และมะละกา ตลอดจนท่าเรือหลักทั้งหมดที่ส่งสินค้าสำหรับตลาดในซีกโลกเหนือ นอกจากนี้ยังมีแหล่งที่มาของการสกัดวัสดุที่จำเป็นอย่างมาก เช่น เหมืองโคลแทนในคองโกและบราซิล รวมถึงเหมืองลิเธียมในชิลีและโบลิเวีย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการที่ฝั่งซีกโลกเหนือไม่สามารถเพิ่มความสามารถในการแสดงอำนาจของตนได้หลังจากการทำรัฐประหารในปี 2019 พ่ายแพ้เพียงหนึ่งปีต่อมา

ส่วนที่ 3 – ความเป็นจริงของทุน

โลกาภิวัฒน์ไม่ใช่ปัญหา

นี่ไม่ได้หมายความว่าทุกภูมิภาคต้องพึ่งพาตนเองอย่างเป็นรูปธรรม เครือข่ายอาหารโลกาภิวัตน์บางรูปแบบจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนบนโลกใบนี้ ทำให้เกิดความหลากหลายและความมั่นคงในกรณีที่ผลผลิตพืชผลต่ำในบางภูมิภาค การผลิตวัสดุทุกภาคส่วนก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่มูลค่าตลาดและจัดจำหน่ายวัสดุเหล่านั้นอย่างไร ใครเป็นผู้จัดหาและใครเป็นเจ้าของแรงงาน

พูดง่าย ๆ ก็คือ ซีกโลกเหนือไม่ได้สร้างความมั่งคั่งทางวัตถุ และไม่สามารถสนับสนุนมาตรฐานการครองชีพในปัจจุบันได้โดยไม่แสวงหาประโยชน์และขูดรีดแรงงานและวัตถุดิบจากประเทศในซีกโลกใต้ผ่านระบบเศรษฐกิจระดับโลกที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยที่ซีกโลกเหนือควบคุมทั้งทุนและแรงงานในที่สุด ชนชั้นกรรมาชีพชาวซีกโลกเหนือไม่ได้ผลิตผลผลิตทางวัตถุ คนรวยไม่กินแรงงานของชาวซีกโลกเหนือ แรงงานชาวซีกโลกเหนือเพียงแค่รับใช้มันเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องตลกร้ายที่ชนชั้นแรงงานชาวซีกโลกเหนือในปัจจุบันได้สร้างแนวหน้าระดับโลกให้กับชนชั้นนายทุน กล่าวคือ ด้วยอำนาจในการเลือกตั้งของพวกเขา ในระบอบประชาธิปไตย พวกเขาได้ทำการลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ลงมือทำให้จักรวรรดิของพวกเขาแผ่ขยายไปทั่วโลก จัดการรัฐประหาร พลิกกลับการปฏิวัติ และการรุกรานของประเทศในซีกโลกใต้ใด ๆ ที่พยายามหลุดพ้นจากห่วงโซ่อุปทานที่ถูกขูดรีดโดยประเทศโลกที่หนึ่ง (ในแง่นี้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงไม่ได้เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับชนชั้นแรงงานโดยรวมในโลกแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเอื้อประโยชน์กับพลเมืองของรัฐรัฐนั้นเท่านั้น เพราะการทำให้พลเมืองในประเทศ— ไม่ว่าจะชนชั้นใด นายทุนหรือแรงงาน— นั้นได้รับผลประโยชน์มากเท่าใด ก็ย่อมต้องขูดรีดเอาผลผลิตส่วนเกินจากประเทศหรือรัฐอื่นมากเท่านั้น เกมนี้จึงอาจกลายเป็นสัจธรรมในเศรษฐกิจการเมืองระดับโลกไปแล้ว)

บางคนอาจโต้แย้งว่าระบบอัตโนมัติ (automation) เป็นทั้งการปลดปล่อยหรือสาเหตุของการเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมในซีกโลกเหนือแต่ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าการมีระบบอัตโนมัติขั้นพื้นฐาน เช่น รถแทรกเตอร์ ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นประเทศที่ “มีรายได้ปานกลางระดับบน” อย่างเช่นประเทศไทยแทนรถแทรกเตอร์ อย่างเช่นประเทศไทยซึ่งพบการใช้ควายในการไถนาเป็นปกติธรรมดา ในขณะนี้ การพัฒนาระบบอัตโนมัติระดับโลกครั้งใหม่มุ่งไปที่การทำให้ภาคบริการเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปลดปล่อยชนชั้นแรงงานชาวซีกโลกเหนือจากการใช้แรงงานอวัตถุ เนื่องจากแรงงานในประเทศในซีกโลกใต้ยังคงทำงานหนักบนผืนดิน

แล้วใครกันคือชนชั้นแรงงาน ?

สิ่งนี้ไม่ถือเป็นการยกย่องผู้ที่อยู่ในซีกโลกใต้ว่าเป็นชนชั้นแรงงานที่บริสุทธิ์เพียงคนเดียวของโลก และไม่ได้หมายความว่าแรงงานชาวซีกโลกเหนือเป็นชนชั้นนายทุนน้อย ทุกวันนี้ชนชั้นแรงงานชาวซีกโลกเหนือยังคงเป็นชนชั้นแรงงานอย่างแท้จริง และน่าเศร้าที่พูดกว้าง ๆ ว่าจิตสำนึกทางชนชั้นในประเทศซีกโลกใต้นั้นแทบจะไม่มีการพัฒนามากไปกว่าในฝั่งซีกโลกเหนือ ประเทศในซีกโลกใต้แน่นอนว่าก็มีเจ้าของกิจการเช่นกัน ที่สามารถยึดอำนาจทางการเมือง และกลไกการเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดในระดับท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกลับไป ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากลไกเหล่านี้ทำงานให้ใครในท้ายที่สุด และใครนั่งอยู่บนโครงสร้างระดับโลก ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าชนชั้นแรงงานในซีกโลกเหนือเป็นชนชั้นแรงงานที่แท้จริงหรือไม่ ประเด็นคือถ้าชนชั้นแรงงานในซีกโลกเหนือเหล่านั้นยึดวิธีการผลิตและทุนที่ติดอยู่กับมัน พวกเขาก็จะกลายเป็นชนชั้นนายทุนระดับโลกคนใหม่

การโต้เถียงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนาที่จะเอาเป็นเอาตายกันไปข้างนึง แต่เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของทุนที่ผู้ต่อต้านทุนนิยมชาวซีกโลกเหนือส่วนใหญ่ละเลยไป แล้วฝ่ายซ้ายชาวซีกโลกเหนือจะต้องทำอย่างไร ? แน่นอน ขั้นแรกคือต้องบรรลุข้อตกลงกับความเป็นจริงของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่มันเป็นอยู่ เช่นที่กล่าวมาข้างต้น ต่อจากนั้น ต้องมีการเปิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อจัดการกับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจและวัตถุดิบต่าง ๆ ระหว่างประเทศในซีกโลกเหนือและประเทศในซีกโลกใต้ และห่วงโซ่อุปทานที่ความสัมพันธ์นี้พึ่งพิงอยู่ มันจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องทำความเข้าใจว่าการต่อต้านทุนนิยมมีความหมายอย่างไรต่อทุน และสำหรับผู้ที่รับใช้ทุน