Ow Lalapine

An interpretation of  “Sunflower Sutra” by Allen Ginsberg in the context of Sathorn, Bangkok

ในช่วงปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่คอนโด ดิเอ็มไพร์ เพลส (The Empire Place) อยู่บ่อยครั้ง สถานที่นี้ตั้งอยู่บนถนนสาธรใต้ที่เป็นย่านธุรกิจที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยความที่ถนนเส้นนี้มีอาคารสำนักงานมากมายซึ่งให้ทัศนียภาพอันสวยงามแก่ผู้ที่มองจากมุมสูง จึงมีบาร์ที่อยู่บนตึกสูงหลายแห่งอยู่ใกล้ๆ เพื่อขายบรรยากาศให้ผู้คนได้มาดื่มสังสรรค์และชมความสวยงามของทิวทัศน์เมือง เช่น Sirocco skybar และ The club by Koi ส่วนคอนโดของเพื่อนผู้เขียนอยู่ชั้น 41 ผู้เขียนจึงได้ชื่นชมความสวยงามของทัศนียภาพจากระเบียงห้อง บรรยากาศช่วงเย็นนั้นดีมาก ทุก ๆ วันจะมีลมเย็นเอื่อย ๆ พร้อมแสงอาทิตย์ยามเย็นและนกไม่ทราบสายพันธ์ุบินกลับรัง พอเริ่มค่ำตึกรอบ ๆ ก็จะเปิดไฟประดับที่ส่องแสงระยิบระยับยิ่งกว่าดาวบนท้องฟ้า

ผู้เขียนชื่นชอบบรรยากาศเช่นนี้เป็นอย่างมากและชื่นชมมันได้อย่างไม่เหนื่อยหน่าย แต่สิ่งแปลกประหลาดสิ่งหนึ่งจากมุมมองของระเบียงห้องนี้ก็คือภาพอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่โดดเด่นเคียงกับคอนโดดิเอ็มไพร์ เพลส ดังนั้นนอกจากวิวตึกรอบๆ ผู้เขียนยังได้ชมพนักงานออฟฟิศทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าขันเมื่อผู้เขียนรู้ว่าอาคารยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ชื่อว่า เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ (Empire Tower) (www.empiretower.co.th) ราวกับว่าตั้งชื่อล้อกันกับดิเอ็มไพร์ เพลสว่าที่หนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่านายทุนและชนชั้นบนและอีกที่หนึ่งเป็นแหล่งทำเงินของพวกเขาอย่างไรอย่างนั้น

ผู้เขียนมองภาพพนักงานออฟฟิศวิ่งกรูกันออกจากห้องประชุมไปยังคอกทำงานของตัวเอง และภาพบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานมาทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงวันแล้ววันเล่า อีกทั้งผู้เขียนสังเกตว่าอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์เองตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับคอนโดดิเอ็มไพร์ เพลสและ ซิร็อคโค่ สกายบาร์ ทั้งยังมีความสูงไม่ต่างกันนัก แต่พนักงานในตึกกลับต้องก้มหน้าทำงานในคอกเล็กๆ ไม่ได้ชื่นชมทัศนียภาพรอบๆ สักเท่าไหร่ ซึ่งหากพวกเขาต้องการจะชมวิวแทบจะแบบเดียวกันกับตึกที่ตนทำงานก็อาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อขึ้นไปชมที่สกายบาร์แทน

ในช่วงแรก ๆ ผู้เขียนอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมพนักงานถึงต้องเร่งรีบและทำงานหนักขนาดนั้น ทำไมพนักงานถึงไม่มีจุดพักผ่อนชมวิวทั้ง ๆ ที่อยู่บนตึกที่มีตำแหน่งดีมาก แต่สุดท้ายจากความสงสัยและความสนใจก็กลายเป็นความเคยชิน ภาพพนักงานทำงานในเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ไม่ใช่ภาพที่น่าสนใจอีกต่อไปผู้เขียนจึงเลือกที่จะชมภาพทิวทัศน์ด้านอื่น ๆ และผ่อนคลายกับลมพัดเอื่อยๆ ปนเสียงนกร้องแทน

(left: The Empire Place/ right: Empire Tower)

จนกระทั่งวันหนึ่งผู้เขียนได้อ่านบทกวีของอลัน กินส์เบิร์ก (Allen Ginsberg) ที่ชื่อว่า “Sunflower Sutra” ในบทกวีนี้กินส์เบิร์กเล่าถึงสภาพสังคมอุตสหกรรมที่กลืนกินความเป็นมนุษย์และกระทำต่อมนุษย์ดั่งเป็นเครื่องจักร แต่ภายใต้ความผุพังก็ยังมีความหวัง กินส์เบริ์กเปรียบผู้คนเป็นเหมือนกับดอกทานตะวันที่ถูกระบบอุตสาหกรรมย่ำยีให้ที่เปรอะเปื้อนไม่สมประกอบ แต่เนื้อแท้นั้นก็ยังเป็นดอกทานตะวันอยู่นั่นเอง ดั่งเช่นมนุษย์ที่ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่อาจหลงลืมตนแต่ไม่ได้สูญสิ้นความเป็นคน ผู้เขียนประทับใจกลอนบทนี้เป็นอย่างมาก จึงได้นำตัวบทมาตีความในบริบทสังคมทุนนิยมสมัยใหม่โดยเลือกมุมมองจากระเบียงห้องคอนโดเอ็มไพร์ เพลส ใช้ฉาก (setting) เป็นอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ที่ให้ภาพแทนระบบทุนนิยม และ ใช้ดอกทานตะวันเป็นสัญลักษณ์แทนมนุษย์ที่มีฐานะต่างกันได้แก่นายทุน ชนชั้นกลางค่อนบน และมนุษย์เงินเดือน โดยผู้เขียนไม่ได้รวมชนชั้นล่างเข้าไปในงานชิ้นนี้เนื่องจากต้องการกำหนดขอบเขตตั้งแต่กลุ่มพนักงานออฟฟิศในบริษัทชั้นนำขึ้นไป

ผู้เขียนสังเกตว่าในสังคมเมืองที่มีประชากรแออัด ฐานะส่งผลกับขนาดและสภาพแวดล้อมของสถานที่อยู่อาศัย ยิ่งบุคคลมีฐานะดี ก็มักจะเลือกสถานที่อยู่อาศัยที่กว้างขวางและมีสภาพแวดล้อมที่ดี เช่นเดียวกับในระบบทุนนิยม บริษัทที่ต้องการภาพลักษณ์ที่ดีหรือเป็นบริษัทแถวหน้าก็มักจะเลือกตั้งบริษัทอยู่ในย่านธุรกิจที่โดดเด่น หรือในบริษัทเองพนักงานที่มีตำแหน่งดีก็มักจะได้ตำแหน่งห้องที่ดีกว่าได้เห็นวิวมากกว่า มีพื้นที่ห้องทำงานกว้างกว่าในขณะที่พนักงานที่ตำแหน่งต่ำกว่าหลายคนไม่แม้แต่จะมีห้องทำงานเป็นของตัวเอง หากแต่ต้องทำงานในคอกติด ๆ กัน มีพื้นที่ส่วนตัวแค่เพียงพอให้นั่งทำงานได้เท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่าการมีพื้นที่ที่เพียงพอและได้เห็นทัศนียภาพที่ดีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น คนที่มีฐานะหรือตำแหน่งการงานดีจึงได้อยู่ในพื้นที่ที่ดีเยี่ยงที่มนุษย์ควรจะได้อยู่ ในขณะที่คนตำแหน่งไม่สูงที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ได้รับพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้เขียนจึงได้กำหนดให้มีดอกทานตะวันทั้งหมดสามแบบคือ ดอกทานตะวันดอกใหญ่ที่เป็นตัวแทนของนายทุนซึ่งมีอิสระที่จะได้สัมผัสลมและแสงแดด เติบโตแข็งแกร่งอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยผู้เขียนได้ออกแบบให้ดอกทานตะวันนี้มีพื้นผิวและเงาใกล้เคียงกับโลหะเพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งและมั่นคงของนายทุน ต่อมาเป็นดอกทานตะวันที่อยู่ในตำแหน่งห้องในตึกที่ค่อนข้างกว้างและไม่แออัด ถึงแม้ดอกทานตะวันประเภทนี้จะไม่ใหญ่โตเท่านายทุนแต่ก็เติบโตแข็งแรงดี เนื่องจากอยู่ในมุมที่ได้รับแสงแดดดี มีพื้นที่และอากาศเพียงพอ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ชมทัศนียภาพรอบ ๆ ดอกทานตะวันประเภทนี้เป็นภาพแทนของชนชั้นกลางค่อนบนและคนที่มีตำแหน่งการงานสูง สุดท้ายเป็นดอกทานตะวันที่ดูเหี่ยวเฉา อยู่ในพื้นที่แออัด อยู่ในมุมอับแสงและไม่ได้รับอากาศเพียงพอ ไม่มีพื้นที่ที่จะเติบโต ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมทัศนียภาพใด ๆ นัก ดอกทานตะวันประเภทนี้เป็นภาพแทนของชนชั้นกลางค่อนล่างที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยที่ดีหรือเป็นผู้ที่ยังไม่ก้าวหน้าในเรื่องงานมากนัก ส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่เชื่อในแนวคิดของชนชั้นกลาง-กลาง จึงไม่ได้รวมไว้ในที่นี้

ใน “Sunflower Sutra” กินส์เบิร์กจบบทกวีด้วยความหวังว่าเราทุกคนต่างยังคงเป็นดอกทานตะวันถึงแม้จะเคยบอบช้ำจากระบบอุตสาหกรรมจนเกือบหลงลืมว่าเราเป็นใคร แต่ตัวผู้เขียนเองเชื่อว่าในบริบททุนนิยมสมัยปัจจุบันหากอยากรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ในสังคมเมืองที่แออัดอย่างสาทรใต้ บุคคลต้องต่อสู้และเติบโตในระบบทุนนิยมให้ได้ถึงแม้ว่าจะถูกระบบดังกล่าวลดทอนความเป็นมนุษย์ระหว่างทาง เพราะหากขยับฐานะของตนขึ้นไปได้ ดอกทานตะวันที่อับเฉาซึ่งเป็นภาพแทนของความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนก็จะเติบโตแข็งแกร่งขึ้น ถึงแม้จะยากที่จะเติบใหญ่เทียบเท่านายทุนแต่อย่างน้อยก็พอจะกลายเป็นดอกทานตะวันที่สมบูรณ์ขึ้นได้

Cited Work

“About us | Empire tower | Office for rent.” http://www.empiretower.co.th/about_us.html. Accessed 16 Dec. 2019.
“Sunflower Sutra by Allen Ginsberg | Poetry Foundation.” https://www.poetryfoundation.org/poems/49304/sunflower-sutra. Accessed 16 Dec. 2019.