ผู้เขียน:
Peranat Pruksarat
Sarid Siriteerathomrong
Rawipon Leemingsawat
หนึ่งในคำถามของพวกปฏิกิริยาที่มีต่อเราชาวคอมมิวนิสต์คือ เป็นคอมมิวนิสต์ใช้ของแบรนด์เนมได้ด้วยหรือ เมื่อพวกปฏิกิริยาเห็นว่าบรรดาสหายของพวกเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้าและใช้ของแบรนด์เนม พวกเขาก็ต่างพากันเยาะเย้ยถากถางว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นพวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกโดยแท้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราขอเสนอว่ามูลเหตุสำคัญมี 2 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง พวกปฏิกิริยาเข้าใจว่าพวกคอมมิวนิสต์ต้องการเสนอให้สังคมย้อนหลังกลับไปเป็นสู่สังคมบุพกาล พวกเขาเข้าใจว่าสังคมบุพกาลเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมจากการที่สังคมมีพลังการผลิตที่ต่ำและการแบ่งงานที่ไม่ชัดเจน ผู้คนในสังคมจึงมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงรักใคร่กลมเกลียว คอมมิวนิสต์ตามความเข้าใจของพวกปฏิกิริยาจึงหมายถึง พวกต่อต้านเทคโนโลยี พวกบูชาความลำบาก และเป็นพวกไดโนเสาร์ สอง พวกปฏิกิริยาเข้าใจว่าผลิตผลใดๆ ในโลกล้วนมาจากระบบทุนนิยมราวกับว่าระบบทุนนิยมคือพระผู้ทรงมหิทธานุภาพที่สามารถบัลดาลสรรพสิ่งดั่งใจปรารถนา มันจึงเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันเมื่อพวกคอมมิวนิสต์ต่างมุ่งหน้าไปสู่ห้างสรรพสินค้าแทนที่จะกลับไปทำไร่ไถนาอย่างสามัคคี
เราคิดว่าเหตุผลข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและสมควรได้รับการโต้แย้ง หากโลกทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่มีปัญหาเราควรเปลี่ยนแปลงมัน แต่หากข้อสมมติฐาน (Hypothesis) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงได้มุ่งเป้าพาเรากลับไปยังสังคมบุพกาลพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร หากข้อสมมติฐานเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการต่อสู้คือการทำให้ตัวเองต้องลำบากพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร หากข้อสมมติฐานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของพวกเราไม่ได้ดีขึ้นพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร สมมติฐานเกี่ยวกับสังคมคอมมิวนิสต์จึงหมายถึงสังคมที่ดีกว่าสังคมทุนนิยมและดีกว่าสังคมบุพกาล คอมมิวนิสต์ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ได้บูชาความยากลำบาก เราเพียงต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ชีวิตที่ดีกว่าเดิมหมายถึงการที่เราทุกคนอยู่ในสังคมที่มีพลังการผลิตที่ก้าวหน้า และสิ่งที่สังคมทุนนิยมให้ไม่ได้แต่สังคมคอมมิวนิสต์ให้ได้ก็คือ ข้อสมมติฐานที่ว่าเราทุกคนจะได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งที่เกิดจากพลังการผลิตที่ก้าวหน้าภายในสังคมทั้งหมด พวกปฏิกิริยาอาจสงสัยว่าสังคมที่ก้าวหน้าขนาดนี้จะอุบัติขึ้นได้อย่างไร เราจึงขอฝากไปยังพวกปฏิกิริยาว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เราทุกคนต้องเผชิญหรอกหรือ ยุคสมัยได้เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายเข้าร่วมเป็นคอมมิวนิสต์และหาทางทำให้ข้อสมมติฐานดังกล่าวเป็นจริง
การมุ่งหน้าไปยังห้างสรรพสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะพวกเราต่อต้านระบบทุนนิยมไม่ได้ต่อต้านผลิตผลของมนุษย์ ความคิดนี้วางอยู่บนฐานคิดที่ว่าผลิตผลต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากการร่วมมือของแรงงาน วัตถุดิบ เครื่องมือในการผลิต องค์ความรู้ บรรดาปัจจัยการผลิตล้วนแต่เป็นการตกตะกอนของแรงงานทั้งสิ้น “ใครกันคือผู้สร้างโลกใบนี้ขึ้นมา คือพวกเราชนชั้นผู้ใช้แรงงาน” ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยมทำให้นายทุนสามารถริบเอาดอกผลจากแรงงานไปเป็นของตัวเองได้ ทุนเป็นเพียงปรสิตคอยสูบเลือดสูบเนื้อเอาชีวิต ฐานคิดเช่นนี้ทุนไม่ได้ผลิตสร้างสิ่งใดเลย ทุนแค่เพียงฉกฉวยดอกผลจากแรงงาน ทุนฉีกกระชาก ประกอบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาใหม่และนำออกขายเพื่อผลกำไร ทุนกล่าวว่ากำไรจงเจริญ! ข้อพิสูจน์ฐานคิดแบบนี้ที่ดีที่สุดคือการจินตนาการถึงกระบวนการใช้แรงงานที่ปราศจากระบบทุนนิยมและกระบวนการใช้แรงงานโดยปราศจากแรงงาน ในขณะที่จินตนาการแบบแรกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่ในกรณีหลังกลับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีแรงงานแล้วกระบวนการใช้แรงงานจะดำรงอยู่ได้อย่างไร เมื่อไม่มีกระบวนการใช้แรงงานสิ่งต่างๆ จะถูกผลิตขึ้นมาจากอะไร
สถานการณ์ในตอนนี้เราทุกคนอยู่ในระบบทุนนิยม ทุนนิยมเป็นโครงสร้างหลักของชีวิต ข้อเสนอนี้ไม่ได้กำลังจะกล่าวว่าเราไม่มีวันทำลายล้างระบบทุนนิยมหรือจงละทิ้งความหวังและจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าเสียเถิด ไม่ใช่แน่นอน เรากำลังจะกล่าวว่าหากเราไม่บริโภคแล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เมื่อทุกๆ การแลกเปลี่ยนและการบริโภคได้ถูกระบบทุนนิยมผนวกรวมเข้าสู่ตรรกะของมัน การเสนอให้ปฏิเสธไม่บริโภคสินค้าจึงเป็นเพียงความคิดอันไร้เดียงสาของพวกปฏิกิริยาตัวน้อยที่มุ่งหวังให้ชาวคอมมิวนิสต์เข้าไปอยู่ในโลกเศรษฐกิจพอเพียงอันไร้มลทินมัวหมองของพวกเขา พวกปฏิกิริยาตัวน้อยเหล่านี้นี่แหละที่จะคอยชี้หน้าไล่บี้สหายทั้งหลายที่เดินเข้าห้างสรรพสินค้าและใช้ของแบรนด์เนม พวกเขาอาจมอบความหวังดีจอมปลอมเล็กๆ น้อยๆ ให้กับสหายด้วยการเสนอให้เลิกใช้สินค้าจากทุนข้ามชาติแต่สนับสนุนให้หันมาบริโภคสินค้าของทุนในชาติแทน แน่นอนว่าผลลัพธ์ของมันคือชาตินิยมและการตอกย้ำมายาภาพเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกกษัตริย์นิยม การปฏิเสธไม่บริโภคสินค้าด้วยการทำสิ่งต่างๆ เอง กลับไปใช้ควายไถนาเอง ซักผ้าเอง สร้างคอมพิวเตอร์เอง และการไม่สนับสนุนสินค้าต่างชาติต่างเป็นยุทธวิธีที่ผิดพลาดในการทำลายล้างระบบทุนนิยม เนื่องจากวิธีแรกปฏิเสธพลังการผลิตที่ก้าวหน้า วิธีที่สองเป็นเพียงการต่อต้านลักษณะการผูกขาดของทุนข้ามชาติไม่ใช่การต่อต้านทุนทั้งระบบ
ข้อเสนอของพวกเราคือปล่อยให้พวกปฏิกิริยาโอบกอดข้อวิจารณ์เชิงศีลธรรมดังกล่าวไว้ให้แน่น ส่วนพวกเราโอบกอดความเป็นจริง แต่ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะแสวงหาโลกที่ดีกว่าทุนนิยม หากท่านเป็นผู้โอบกอดความเป็นจริงคำถามที่ตามมาคือ What is to be done ? นี่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันขบคิด ศีลธรรมแบบใดที่เหมาะที่ควรแก่บรรดาผู้ต่อต้านทุนนิยม กลยุทธ์แบบไหนที่จะนำทางพวกเรา ยุทธวิธีแขนงใดจะสำเร็จผล หรือที่สำคัญที่สุดคือ เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยมไปพร้อมกับต่อต้าน รื้อ ทำลายระบบทุนนิยมและสร้างโลกใหม่ไปพร้อมๆ กันอย่างไร
——–
เครดิตภาพปกจาก: https://wordlesstech.com/famous-logos-communist-regimes/
——–
ไอเดียคอมมิวนิสต์ มาร์กซิส นี่ได้อ่านทีไรก็ ฮึดฮัด บ้างซาบซึ้งถึงพลังที่เอ่อล้นออกมา อยากจะพุ่งกระโจนออกไปโบกธงปฏิวัติ โมโหโกรธา เคืองแค้นกับความไม่เอาไหนต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในสังคม แต่น่าเสียดายที่ “unfortunately, I (communism) don’t have a blueprint.” ที่กล่าวชมถึงความรู้สึกในเบื้องต้นแบบนี้ไม่ได้จะดีเฟนด์ตัวเองไว้ก่อนว่าเป็น “พวกเดียวกัน” หรืออะไร แค่จะบอกว่านี่คือข้อดีหนึ่งหรือกล่าวแบบตลกร้ายที่สุดคือ ข้อดีที่สุดของไอเดียแบบคอมมิวนิสต์ มาร์กซิส ก็คือ “ความหวัง” (เพราะฉันไม่มีแผนผังแนวทาง-จะว่าไม่มีก็อาจจะกล่าวเกินไป บางครั้งก็จะนึกถึงข้อเสนอใน communism manifesto เป็นข้อ ๆ ของมาร์กซ์ แต่ถ้าให้กล่าวให้ตรงมากขึ้นก็คือปัญหาหลักๆตอนนี้ของ คอมมิวนิสต์ที่ยังตอบไม่ได้คือ อย่างไรจะไม่ทำให้การก้าวไปสู่คอมมิวนิสต์ไม่เลื่อนไถลไปสู่ “เผด็จการอำนาจนิยม” ต้องโน๊ตไว้ตรงนี้ด้วยว่า “รัฐสวัสดิการ” ก็ยังเอาทุนนิยม รวมทั้งไอเดียแบบสังคมนิยม socialism ก็คุ้นๆว่าในสักแห่งที่มาร์กซ์เองก็วิพากษ์ไว้)
ผมไม่ได้อ่านงาน มาร์กซิสมากนัก แต่เท่าที่ฟัง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพวกอ้างตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย เป็น (ผู้สมาทาน) communist เป็น ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรทำนองนี้ในประเทศไทย ผมพบว่า พวกเขาไม่ได้มีความพยายาม “มากพอ” (ซึ่งเท่าไหร่ผมก็ไม่รู้ที่ว่าจะ “พอ”) ในการทบทวนและคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจะพบจากการกล่าวอะไรออกมาอย่างมักง่ายเกินไป ซึ่งเราก็จะพบได้ในบทความนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
“ข้อสมมติฐานที่ว่าเราทุกคนจะได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งที่เกิดจากพลังการผลิตที่ก้าวหน้าภายในสังคมทั้งหมด” และ “เรากำลังจะกล่าวว่าหากเราไม่บริโภคแล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”
– ผมขอเดาประโยคแรกว่า “เราทุกคนจะได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง property แต่เป็น common (นั่นคือไม่ได้มี private peoperty แบบ all has equally แต่เป็น “สิ่งของกลางร่วมกัน”) พลังผลิตที่ก้าวหน้าของทุนนิยมนั้นวางอยู่บนการแข่งขัน (ที่มีผลตอบแทนเป็น “private property” เป็น “privilege” ฯลฯ ขอเรียกรวมว่า “สิทธิพิเศษ”) การแข่งขันในเชิงตลาดหรือทุนนิยม อีกส่วนหนึ่งเกิดจาก “อุปสงค์” (demand) ซึ่งเกิดจากความต้องการ “บริโภค” ผมเคยถกเถียงเรื่องนี้ในง่ายสัมนาที่มี ท่านหนึ่งกล่าวว่า “(เป็นคอมมิวนิสต์ที่) อยากกินอะไรก็ได้กิน” นั่นแสดงว่าคอมมิวนิสต์ไปด้วยกันได้ดีกับบริโภคนิยม? เราสามารถแยกทุนนิยมออกจากบริโภคนิยมได้? (นี่คนละเรื่องกับเราไม่บริโภค “จะมีชีวิตอย่างไร” และแบรนด์เนมก็ไม่เข้าข่ายว่า “จะมีชีวิตอย่างไร”) แน่นอน “ความอยากบริโภค” ทำให้สังคมก้าวหน้า (นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมศักดินาไปถึงทางตัน) แต่นี่ยังไม่ต้องกล่าวไปถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากทรัพยากรหมดไปจากการที่ ทุกคน “อยากกินอะไรก็ได้กิน” หรือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และหากเป็นดังที่กล่าว เมื่อไม่มี “สิทธิพิเศษ” แล้ว อะไรที่จะดึงดูดในคนต้องแข่งขันและก้าวหน้า? แล้ว “ความก้าวหน้า” คือความก้าวหน้าของอะไร? ศิลปะ? วรรณกรรม? หรือเพียงเทคโนโลยี?
งั้นลองมองในทางกลับกันเดาไปอีกทาง ว่า “เราทุกคนจะได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง” คือ private peoperty แบบ all has equally แล้ว equally มันจะออกมาแบบไหน? ในเมื่อคนเรามีความหลากหลาย มีความต้องการต่างกัน มากน้อยต่างกัน แล้วเราต้องกำหนดความ “พอดี” หรือไม่? (เราจะไม่พูดถึง “พอเพียง” ที่พูดๆกันในสังคมไทย เพราะมันไม่เคยมีนิยามที่แน่นอน ดิ้นไปมา ไร้กระดูกสันหลัง ทำตัวครอบคลุม ครอบงำ กดทับทุกอย่างโดยเฉพาะ “คนจน”) และเราจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ ศาสนา ศีลธรรมบรรดาทำหน้าที่ได้ดีกว่าเสมอ
และ “การมุ่งหน้าไปยังห้างสรรพสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะพวกเราต่อต้านระบบทุนนิยมไม่ได้ต่อต้านผลิตผลของมนุษย์”
– นี่จะย้อนไปสู่ ข้ออภิปรายแรก ๆ ว่าเราต้องตอบคำถามก่อนว่า “เราสามารถแยกบริโภคนิยมออกจากทุนนิยมได้หรือไม่?” สำหรับผมการเข้าห้าง หรือใช้สินค้าแบรนด์เนม นี่คือการต่อลมหายใจของการสะสมทุนของทุนนิยมเสมอ (หรือว่าเราต้องการนายทุนหัวใจเป็นธรรมเพียงเท่านั้น) โดยหาข้ออ้างให้ตัวเอง จึงเป็นภาวะที่แย่ยิ่งกว่า “พวกเสรีนิยม” ที่พยายามเรียกร้องหรือ raise ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา (เช่น การกดขี่แรงงาน บริษัทที่สนับสนุนเผด็จการ ฯลฯ)
(นี่ยังไม่ต้องอภิปรายต่อว่า การ take คอนเซ็ปท์แรงงานโดยปราศจากทุนนิยม เป็นไปได้หรือไม่? หรือความเป็นจริงคอนเซ็ปท์ของแรงงานคือสิ่งที่ติดมากับทุนนิยม? ที่ตรงข้ามกับนายทุน นายทุนเป็นแรงงานหรือไม่? คอนเซ็ปท์ แรงงาน คือการคิดภายใต้กรอบทุนนิยมใช่หรือไม่? แรงงานที่ไม่ผลิตทุนมีหรือไม่? หากไม่ผลิต “ทุน” ยังเรียกว่า “แรงงาน” หรือไม่? เป็นคำถามที่ชวนให้ต้องคิด ไม่เพียงเท่านั้นห้างสรรพสินค้าคือ “สัญญะ” ของทุนนิยม ศักดินา ชนช้ันนำและกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูการเลือกชุมนุมที่ราชประสงค์ และเซ็นทรัลเวิร์ด ของคนเสื้อแดง เป็นตัวอย่าง)
และ “ทุนไม่ได้ผลิตสร้างสิ่งใดเลย”
– การกล่าวเช่นนี้คือการท่องคาถาแบบนกแก้วนกขุนทอง มาร์กซ์เองก็ชื่นชนทุนนิยมในหลายแง่ ทั้งการเปิดเผย ไม่ซ่อนเร้นตัวเอง (แน่ละ ความเข้าใจทุนนิยม หรือตัวทุนนิยมเองก็เปลี่ยนไป) การขับเคลื่อนการสะสมทุน ที่ไปขับเคลื่อนสิ่งอื่น เช่นเทคโนโลยี ปัญหาของทุนจึงไม่ใช่มันไม่ได้ผลิตสร้างสิ่งใด (ทุนนั่นเองไม่ใช่หรือที่ทำให้พวกท่านๆคอมมิวนิสต์ได้เดินห้างกัน ได้ใช้สินค้าแบรนด์เนม) หากแต่มันสร้างสิ่งใดที่เป็นปัญหาต่างหาก
ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อคอมมิวนิสต์ไม่มี “blueprint” ที่เป็นรูปธรรม ความคิดทางการเมืองอื่นจึงชนะเสมอ ที่จึงทำให้ฝ่ายซ้ายในหลายประเทศไปหา wellfare state หรือ socislism ฯลฯ เพื่อสร้างโมเดลรูปธรรมบางอย่าง เป็นทางเลือก ซึ่งแทบสั่นคลอนทุนนิยมได้น้อยมาก (หรือไม่สั่นคลอนเลย) และเป็นเหตุผลที่คนกลุ่มหนึ่ง “หันขวา” เพราะมันมี “blueprint” ที่ชัดเจนมากกว่า แน่นอนทั้งสองฝ่ายพบปัญหาจากทุนนิยมชัดเจน (จากความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ)
ทั้งหมดจึงส่งผลให้ “พวกปฏิกริยา” วิจารณ์ว่าพวกคอมมิวนิสต์ เป็นพวกหลอกตัวอย่าง เมื่อมองจากฐานที่ “…โอบกอดความเป็นจริง” หรือเป็นรูปธรรมมากกว่า (ดูย่อหน้าแรกของบทความ)
น้อยคนนักจะปฏิเสธว่าทุนนิยมไม่มีปัญหา (ถ้าไม่ใช่นายทุน) ไม่ว่าจะ “ขวา” หรือ ”ซ้าย” เราทุกคนต่างต้องการชีวิตที่ดีกว่า แต่เมื่อคอมมิวนิสต์มีแต่ฝัน มันก็ง่ายที่จะไปหาอะไรที่รูปธรรมมากกว่า การเพียง “..ขอฝากไปยังพวกปฏิกิริยาว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เราทุกคนต้องเผชิญหรอกหรือ ยุคสมัยได้เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายเข้าร่วมเป็นคอมมิวนิสต์และหาทางทำให้ข้อสมมติฐานดังกล่าวเป็นจริง” ก็ดูเป็นเพียงการ “ล่อลวง” ให้ไปหาอนาคตที่ว่างเปล่า รอการเติมเต็ม (ซึ่งก็มักจะถูกเติมเต็มด้วย “อนุรักษ์นิยม” “เผด็จการอำนาจนิยม” อย่างร้ายในไทยคือ ”กษัตริย์นิยม” เพราะอะไรได้กล่าวไปแล้วในสองย่อหน้าก่อน)
นี่เป็นเพียงสองสามตัวอย่างที่ย้อนแย้ง ไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ยกขึ้นมา เอาเข้าจริงโดยรวมทั้งหมด ผมไม่ได้มีปัญหากับการเข้าเซเว่น ใช้ของแบรนด์เนม เข้าห้าง ฯลฯ ของพวกที่อ้างว่าตัวเองสมาทานคอมมิวนิสต์ มากเท่ากับการที่อ้าง “ขายฝัน” อย่างมักง่ายและไม่คิดกับมันจริงจังมากพอ
สวัสดี testๆ