ผู้เขียน Pathompong Kwangthong

“กระต่าย… เต่าแข่งขัน
หลักชัยอยู่ไกลแสนไกล สองคนต่างไม่ท้อใจ
แข่งขันไปในเส้นทาง
ต่างมุ่งไปสู่เส้นชัย“

บทเพลงนี้ก้องอยู่ในความทรงจำผม แม้ไม่อาจกล่าวอย่างมั่นใจว่า เรียบเรียงออกมาถูกต้องครบถ้วนกระบวนความหรือไม่ แต่หลักใหญ่ใจความไม่สูญหายแน่นอน

บทเพลงนี้เป็นบทเพลงปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เหลือรอดมาให้ผมได้ฟัง ผ่านแผ่นเสียงที่เรียกกันว่าเทปคาสเซท ที่พ่อเปิดให้ฟังทุกวันในรถยนต์ระหว่างทางไปโรงเรียน

“เจ้านกแสงตะวันบินผ่านมา
มันส่งเสียงเจรจา
ทำไมเกิดมาเพื่อแข่งขัน
น่าจะร่วมกันสู่เส้นชัย”

ท่อนนี้เป็นส่วนที่จับใจความสำคัญในเพลงได้ครบถ้วนที่สุด เป็นท่อนที่สื่อออกมาง่ายๆ จากใจถึงใจ ตามแนวทางโฆษณาชวนเชื่อของพรรคได้ดีเยี่ยม ใครก็ตามที่ได้ฟังท่อนนี้ย่อมเข้าใจทันที และท่อนนี้ยังคงตามมาเตือนสติผมอยู่ตลอดเวลาไม่เคยห่างเหิน

เราอาจเรียกได้ว่า เนื้อเพลงท่อนนี้โจมตีไปที่มลทินของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเป็นใหญ่เข้าอย่างจัง แค่คำถามว่าทำไม เพราะมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยสัญชาติญาณดิบเพียงอย่างเดียว สิ่งที่มนุษย์มีคือความสามารถในการก่อร่างสร้างสถาบันทางสังคมต่างๆ ขึ้นมา และหากมองในระดับจิตวิเคราะห์แล้ว แม้เราจะโดนบงการจากจิตไร้สำนึกอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าตัวตนของเราถูกประกอบสร้างจากสังคมผ่านภาษาด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว อาจกล่าวอย่างที่มาร์กซ์พูดได้ไม่ขัดเขินว่า มนุษยชาติสามารถสร้างอนาคตของพวกเขาได้ แต่ไม่ได้อยู่บนฐานของสิ่งที่พวกเขาเลือกเอง

แม้เราจะเลือกภาษาแม่ของเราไม่ได้ แต่เราก็สามารถประดิษฐ์สร้างคำเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม หรือเลยเถิดไปมีอิทธิพลกับทั้งระบบโครงสร้างของภาษาก็เป็นได้ เหมือนดังเช่น เช็คสเปียร์ ที่เคยถูกตราหน้าว่าใช้ภาษาผิดเพี้ยน ทำให้ภาษาอังกฤษเสียหาย บัดนี้ภาษาของเขากลายเป็นรากฐานของภาษาอังกฤษปัจจุบันไปเสียแล้ว

ในทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองก็เช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบสังคมมนุษย์มีการวิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่องตามประวัติศาสตร์ มีการแตกหักเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าอยู่หลายต่อหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด หากเรามองไปที่ปรัชญา ศิลปะ หรือแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ ที่ดูผิวเผินแล้วมันคือการต่อยอดเติมแต่งสิ่งเก่าเหล่านั้นให้ดีขึ้น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันเป็นเส้นตรงของสิ่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นภาพมายาที่เกิดจากความพยายามปรุงแต่งของมนุษย์ทั้งสิ้น

สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแตกหักมากมาย และสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไป หาใช่การเติมแต่งต่อยอดจากของเดิมอย่างราบเรียบไม่ ตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดีก็คือ ระบบสุริยะจักรวาล ระบบนี้ในครั้งหนึ่งเคยวางโลกเข้าไปที่ใจกลาง ทว่าการสังเกตดวงดาวของเหล่านักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทั้งหลาย กลับพบข้อค้านเต็มไปหมด แล้วสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สายปฏิรูปทำ ก็คือการทำให้รูปแบบวงโคจรของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อรักษาความเชื่อดั้งเดิมไว้ (ดังภาพประกอบ 1 ทางซ้าย) อย่างไรก็ดี โคเปอร์นิคัสไม่อาจยอมรับมันได้ และเสนอรูปแบบใหม่ในลักษณะปฏิวัติ ผลิกโฉมการมองระบบสุริยะไปตลอดกาล (ดังภาพประกอบทางขวา)

ระบบสุริยะ; ที่มา

ในวงการแพทย์ก็ไม่ต่างกัน ความเชื่อเรื่องปัจจัยก่อโรค และการนิยามตัวโรค ก็มีลักษณะปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อเรื่อง อากาศแย่ อันเป็นที่มาของชื่อโรคมาลาเรีย มาเป็น เชื้อโรค จำพวกแบคทีเรียและไวรัส กระทั่งถึงยุคที่เรานิยามโรคผ่านการตรวจชิ้นเนื้อ และกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการวินิจฉัยและรักษาด้วยรหัสพันธุกรรม

แน่นอนว่าการแตกหักเหล่านี้ ไม่ได้ละทิ้งสิ่งเก่าไปเสียหมด โคเปอร์นิคัสไม่ได้ละทิ้งดวงดาวในโมเดลเก่าฉันใด โมเดลทางการแพทย์แบบใหม่ก็รับเอามุมมองเก่ามาใช้ด้วยฉันนั้น ดังที่ปัจจุบันทางการแพทย์อาจเรียกว่า Multifactorial causation

สิ่งที่ทำให้ผมกลับมาสนใจเรื่องกระต่ายกับเต่า มาจากการ์ตูนช่องใน Social Media ชิ้นหนึ่ง การ์ตูนชิ้นนี้ ทำให้เราคิดได้อีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือไปจากว่า ทำไมต้องแข่งขัน นั่นก็คือทำไม “กระต่าย” ถึงอยากแข่งกับ “เต่า” ?

กระต่าย เป็นตัวละครที่เป็นสัญญะแทนความรวดเร็ว ส่วนเต่าก็เป็นเพียงแค่คู่ตรงข้าม เอามาจัดวางเพื่อขับเน้นความแตกต่างของตัวละครในด้านความเร็ว กล่าวคือ ตามความนึกคิดของผู้อ่าน ย่อมเข้าใจได้ว่า หากเกิดการแข่งขันขึ้นตามระบบโดยทั่วไปแล้ว กระต่ายย่อมชนะอย่างแน่นอน

การ์ตูนช่องนี้จึงกระตุกต่อมคิดของเรา ณ จุดที่กระต่ายไปท้าแข่งกับเต่านั่นแล เหตุใดกระต่ายต้องท้าแข่งกับเต่าเล่า? ในเมื่อหากคิดตามที่กล่าวไป ย่อมไม่มีทางใด ที่กระต่ายจะสามารถเอาชนะได้ คุณูปการของการ์ตูนเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การเปิดเผยความไร้สาระของคำท้านี้ และทำให้กระต่ายกลายเป็นตัวละครที่มีปัญหาทางจิตไปโดยปริยาย

กระนั้น หากเรานำมุมมองนี้ มาสานต่อเรื่องการแข่งขันในโลกเศรษฐกิจจริง เรากลับมองไม่เห็นว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาดแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่โลกความจริงนั้น มนุษยชาติ กำลังทำการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบกระต่ายกับเต่ามิใช่หรือ? เราพูดถึงการแข่งขันที่ฟรีและแฟร์ เราพูดถึงความสามารถที่ใครก็อาจไปถึงเส้นชัยได้ แต่ลึกๆ เราก็รู้ไม่ใช่ฤา ว่าเต่าอย่างเรา มีโอกาสน้อยนิดเพียงใด ที่จะไปชนะกระต่ายตัวนั้น

ความไร้สาระนี้ ถูกโฆษณาชวนเชื่อ ประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เราทุกคนมี “ธรรมชาติ” ของการแข่งขัน เราสามารถเป็นที่หนึ่งได้เสมอ ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นติดลบด้วยหนี้มากมายเพียงใด อายุน้อยร้อยล้านก็เกิดขึ้นได้ สังคมที่แก่งแย่งแข่งขัน สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาล โดยเราเองแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นความโหดร้ายทารุณของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ แม้แต่ในสลัมที่อยู่ห่างจากเราไม่กี่ก้าวเดิน อีกทั้งความตายที่ป้องกันได้จากความอดอยากและค่ายารักษาโรคภายใต้การแข่งขันเสรี ราวกับว่าความตายจากค่ายสังคมนิยมเท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์ในการถูกนับและบันทึกลงในประวัติศาสตร์

กระต่ายแข่งกับเต่าไม่แฟร์ฉันใด ระบบเศรษฐกิจที่ยอมให้ตลาดเป็นใหญ่ก็ไม่แฟร์ฉันนั้น

ระบบเศรษฐกิจนี้ เริ่มจากการแบ่งมนุษยชาติออกเป็นกระต่ายกับเต่า กระต่าย คือ 1% และ 99% ที่เหลือคือเต่าทั้งสิ้น

แน่นอนว่าเต่าบางตนอาจวิ่งไวกว่า แต่ไม่อาจแม้แต่จะไล่ตามฝุ่นของกระต่ายตัวสุดท้ายได้ทัน

กระบวนแบ่งคนให้เป็นกระต่ายกับเต่านั้นมีมาช้านาน เหตุการณ์ล้อมรัวที่ดินของอังกฤษเป็นตัวอย่างที่ดีของกระบวนการเหล่านี้ เมื่อยุคปลายศักดินาที่พ่อค้าเริ่มสะสมทุนได้มากขึ้น พวกเจ้าศักดินาทั้งหลาย ก็เกิดอารมณ์ริษยาตามมา ผลักไสให้เหล่าไพร่ทาสออกจากที่ทำกินของตนเอง เกิดกระบวนการยึดครองที่ดิน ตอกเสาเข็ม อีกทั้งรัฐก็มีการรุกคืบ เปลี่ยนผืนดินทุกตารางนิ้ว ผนวกรวมเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน กลายเป็นว่าไม่มีที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ว่าที่ไหน ก็ย่อมมีเจ้าของเป็นบุคคล หรือไม่ก็รัฐ หากไม่เป็นไรนา ก็เป็นป่าสงวน กระทั่งบนโลกนี้ มีแต่ขั้วโลกใต้เท่านั้น ที่มนุษยชาติ เป็นเจ้าของร่วมกัน

สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อน ไพร่ทาสไม่มีทรัพย์สินติดตัว ถ้ามีก็ย่อมน้อยมาก เปรียบเสมือนเต่าน้อย ที่ไม่อาจก้าวขาได้ทันการซอยเท้ายิกๆ ของกระต่ายนายทุน

เมื่อกระต่ายท้าเต่าแข่งขันในระบบเสรีแห่งนี้ เต่าจะทำอย่างไรได้

เมื่อเราถูกสัมภาษณ์เข้างาน เราจะตอบอย่างไรได้ หากไม่ใช่ว่าเรารักงานนั้นเหลือเกิน เกินกว่าชีวิตของเราด้วยซ้ำ…

ความไร้สาระที่ดูเป็นเรื่องตลกในนิทานและการ์ตูน กลับเป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตจริงที่ไม่มีใครคิดว่าแปลกประหลาด มนุษย์มาอยู่ในจุดจบของประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีสิ่งใดรอคอยเรา ภาพยนตร์ดิสโทเปีย ไม่ใช่สิ่งที่แตกหักจากปัจจุบันอีกต่อไป มันเป็นเพียงส่วนต่อขยายและเพิ่มขีดความโหดร้ายทารุณของโลกปัจจุบันเท่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่า เราอยู่ในโลกดิสโทเปียนั้นแล้ว แต่เราแค่สยบยอมต่อมันเท่านั้นเอง

เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ การมองในลักษณะแตกหักจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องยืนยันว่าประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น และการแข่งขันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” หรือ “แฟร์” แต่อย่างใด ไม่มีหรอก ฝันหวานลวงตาเหล่านั้น เราจำเป็นต้องตื่น ตื่นเพื่อทั้งตัวเรา และคนรอบข้าง

ประเด็นก่อนส่งท้ายก็คือ เราต้องรู้ว่าเรากำลังต่อสู้แข่งขันกับใคร หรือจะพูดว่าใครคือกระต่ายก็ย่อมได้ หากเราไม่นิยามตรงนี้ เราย่อมหลงทิศหลงทาง ฟาดฟันอยู่กับเต่าด้วยกันเอง กระต่ายไม่ใช่เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่ใช่นักวิชาการแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเต่า ที่อาจดูดีกว่า ในสายตาของเต่าบางตัวเท่านั้นเอง กระต่าย คือนายทุนใหญ่ เพียงไม่ถึง 1% ของประชากรโลก กระต่ายบางครั้งอาจมาในรูปสัตว์มีเขา บางครั้งอาจมาในรูปป่าขนาดใหญ่ในอเมริกาใต้ บางครั้งอาจเป็นที่ที่เราต้องปิดมันเพื่อกันฝนเข้าบ้าน หรือมาในรูปแบบของผลไม้ที่เรากัดกิน สุดท้ายกระต่ายบางตัวก็ไม่ได้วิ่งด้วยเท้าอีกต่อไป แต่กลับปั่นจักรยานชมวิวอยู่ในป่าแถบยุโรปด้วยซ้ำ

เมื่อเรารู้แล้วว่ากระต่ายคือใคร เราก็จะไม่หลงงมงาย กลับม่านบังตาที่ว่า “พวกคอมมิวนิสต์จะมายึดทรัพย์มึงไป” เต่าไม่มีอะไรต้องกลัว สิ่งที่เต่ากลัวควรเป็นกระต่าย ไม่ใช่เต่าด้วยกัน

สิ่งที่เต่าต้องทำ ไม่ใช่การเป็นนักบำบัดให้กระต่าย ด้วยการลงไปแข่งขันกับมันเช่นในการ์ตูนนั้น หากแต่เป็นการตอกกลับไปว่า กูจะไม่แข่งกับมึงแล้วต่างหาก

และเมื่อเต่าพร้อมจะแตกหักกับกระต่ายและการแข่งขันอันโง่เง่าของมันแล้ว สิ่งที่เต่าต้องการในท้ายที่สุด จึงเป็นระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ ที่แตกหักกับระบบปัจจุบัน นำเอาเพียงสิ่งดีที่มีอยู่ ไปสร้างสังคมที่เต่าได้อาศัยร่วมกัน เพื่อให้เต่าอย่างเราได้นอนเอนกายใต้ต้นไม้ หรือปั่นจักรยานชมวิวได้ตามสมควรต่อไป.