“ห้องสมุดตายแล้ว ทุนแอนด์ดิจิทัลจงเจริญ!”

“ห้องสมุดตายแล้ว ทุนแอนด์ดิจิทัลจงเจริญ!”

ผู้เขียน Sarid Siriteerathomrong
บรรณาธิการโดย Editorial Team


หากท่านได้ติดตามข่าวในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คงจะต้องเห็นข่าวการทุบโรงหนังสกาลาโดยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ผ่านตาเป็นแน่ การตัดสินใจทุบโรงหนังเก่าแก่แห่งนี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าสัวห้างนั้น ชนะการประมูลเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปี จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่ซึ่งโรงหนังสกาลาเปิดให้บริการมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แม้นว่าโรงหนังสกาลาอันเก่าแก่แห่งนี้จะมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ความทรงจำ คุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าในฐานะแหล่งการเรียนรู้และอื่นๆ อีกมากมายพอที่จะเข้าเกณฑ์เป็นโบราณสถานแต่กรมศิลปากรกลับเมินเฉยต่อคุณค่าเหล่านี้และปล่อยให้เจ้าสัวห้างทุบทำลายอาคารประวัติศาสตร์นี้ทิ้งเสียฉิบ แต่ท่านทั้งหลายครับในข้อเขียนนี้ผมไม่ได้จะพาท่านไปพิจารณากรณีการทุบสกาลาทิ้งอย่างเลือดเย็นแต่อย่างใด ผมเพียงแต่ยกกรณีนี้มาเพื่อชี้ให้เห็นความโหดร้ายเลวทรามของทุนนิยมที่กระทำต่อทรัพยากรอันทรงคุณค่าของเราต่างหาก

เรื่องที่ผมต้องการจะพูดแก่ท่านทั้งหลายคือ ในขณะที่ความเจริญงอกงามของกิจการหนังสือยอดขายสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มสูงขึ้น หนังสือวิชาการหรือจะเป็นนิยาย วรรณกรรม ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศถูกแปลออกมามากขึ้น เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสังคมกำลังเติบโตทางความคิดอย่างมาก แต่ท่านทั้งหลายครับ ณ ห้วงยามที่น่าปีตินี้กลับเกิดเหตุอาเพศขึ้นที่คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยหัวเมืองภาคเหนืออันขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ เหตุอาเพศที่ว่าคือ “การยุบห้องสมุดประจำคณะ” เปลี่ยนให้เป็น “พื้นที่ทำงานร่วม (co-working space)” แผนปรับปรุงห้องสมุดยังล้ำเส้นไปกว่านั้นด้วยคณะผู้บริหารจะติดต่อร้านรวงต่างๆ เช่น ร้านอาหารเฟรนไชส์ ร้านกาแฟ ฯลฯ ให้มาเช่าพื้นที่

แรกเริ่มผู้คนยังไม่รับรู้ถึงข่าวอาเพศนี้ในวงกว้างนัก ต่อมาข่าวนี้ได้กระจายเป็นวงกว้างในประชาคม หลังข่าวกระจายออกไปผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไอเดียอันสุดแสนจะบรรเจิดนี้ท่านหนึ่งก็ได้ออกมาแก้ต่างให้กับการยุบห้องสมุดทิ้งด้วยข้ออ้างทำนองว่า

“นี่มันยุคทุนแอนด์ดิจิทัลแล้วสมัยนี้เอกสารที่อ่านกันจริงๆ จังๆ ก็มาจาก “online data based journal” (ฐานข้อมูลวารสารออนไลน์) บรรดาหนังสือต่างๆ ในช่วงสิบปีมานี้ก็ถูกทำให้เป็น “electronic files” ทั้งสิ้น เพื่อให้ห้องสมุดมีชีวิตต่อไปในยุคดิจิทัล จึงจำเป็นที่จะต้อง “ปรับปรุง” ห้องสมุดซะ เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เก็บหนังสือ การมีอยู่และการเข้าถึงต่างหากที่คือความหมายอันงดงามของมัน ห้องสมุดที่คนไม่อยากเข้าหรือเข้าถึงไม่ได้ จนไม่มีโอกาสได้เข้าถึง (เพราะชอบสิ่งอื่นๆ อีกมากกว่า) ต่างหากที่จะกลายเป็นห้องสมุดที่ตายแล้วจริงๆ”

ท่านทั้งหลายครับ ผมอยากจะให้ท่านลองพิจารณาข้ออ้างเหล่านี้ให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง แล้วท่านจะพบว่ามันฟังไม่ขึ้นเสียเลย! คณะผู้บริหารอันสูงส่งเกรียงไกรได้อ้างว่ายุคสมัยนี้ใครๆ เขาก็อ่านหนังสือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะในคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก กระดานชนวนราคาแสนแพง ฯลฯ เพราะฉะนั้นคนเขาก็ไม่ค่อยจะเข้าห้องสมุดนักหรอก ข้อกล่าวอ้างข้างต้นนี้ถูกเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ละเลย ความสำคัญของห้องสมุดในฐานะที่เป็นส่วนรวมทางความรู้ (knowledge commons) ของประชาคม ท่านผู้บริหารบอกว่าห้องสมุดที่คนไม่อยากเข้าหรือเข้าไม่ถึงต่างหากถึงจะเป็นห้องสมุดที่ตายแล้ว ความย้อนแย้งของท่านผู้บริหารคือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถถือครองทรัพยากรในการเข้าถึงหนังสือดิจิทัลเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้ลูกตาจ้องมองจอแสดงภาพได้เป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมง อีกทั้งมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งนี้ก็ไม่ได้ลงทุนกับแหล่งความรู้ดิจิทัลมากดังที่ชอบกล่าวอ้าง นอกจากนี้หากท่านต้องการจะยืมหนังสือท่านจำเป็นต้องรู้ชื่อหนังสือเล่มที่จะยืมเสียก่อนแล้วค่อยไปบอกบรรณารักษ์ที่นั่งประจำอยู่ที่พื้นที่ทำงานร่วมให้นำมาให้ท่าน อ่าห์… ช่างเป็นระบบที่ใช้งานง่ายและเข้าถึงง่ายเสียจริง! ซึ่งพื้นที่ทำงานร่วมนี้จะไม่มีหนังสือเก็บไว้ เราไม่อาจเรียกพื้นที่โล่งที่มีแต่โต๊ะ เก้าอี้ วางเรียงรายราวกับป้ายสุสานแต่ไม่มีหนังสือสักเล่มเดียวว่าห้องสมุดได้ดอกครับ ผู้บริหารควรหยุดสะกดจิตตัวเองได้แล้วว่าป้ายสุสานน่าอดสูเหล่านี้สามารถนำพาดวงวิญญาณที่หลงทางไปสู่แสงสว่างแห่งปัญญาได้ ตราบใดที่ห้องสมุดซึ่งเปรียบเสมือนตะเกียงสอดส่องไปยังหนทางแห่งปัญญาเบื้องหน้ายังไม่ได้ความสำคัญ ซ้ำร้ายกว่านั้น ในโปรเจกต์ปรับปรุงห้องสมุดนี้ คณะผู้บริหารจะทำสัญญากับบรรดาทุนทั้งหลายโดยให้ใช้พื้นที่ส่วนรวมบริเวณรอบๆ อดีตห้องสมุดเป็นพื้นที่ขายของแลกกับความมั่งคั่งในรูปแบบของค่าเช่าอีกด้วย

ท่านทั้งหลายที่อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่าข้าพเจ้าต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านความเจริญงอกงาม ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อต้านความก้าวหน้า ข้าพเจ้าเพียงแต่ต่อต้านความบ้าอำนาจของเหล่าผู้บริหารอันสูงส่งแลโครงสร้างการบริหารภายใต้ระบบทุนนิยมที่จะต้องคำนึงถึงกำไรขาดทุนอยู่ตลอดเวลา ราชวงศ์ผู้บริหารแห่งคณะสังคมศาสตร์ดูจะมีอำนาจเหลือล้นจนสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนของประชาคม เมื่อสมาชิกของประชาคมเริ่มส่งเสียงของตัวเองออกมา บรรดาราชวงศ์ก็บอกว่า “พวกเธอจะไปรู้อะไรเรื่องการบริหาร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเราเถอะ” โครงสร้างอำนาจการบริหารงานนี้ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในราชวงศ์ผู้บริหารคณะสังคมฯ เท่านั้น แต่มันกลับสะท้อนออกมาให้เห็นในทุกราชวงศ์ของผู้บริหารคณะต่างๆ ภายใต้การปกครองของอธิการบดี

ด้วยโครงสร้างศักดินาและอำนาจทุนในมหาวิทยาลัยนี้เองที่ทำลายศักยภาพในการเติบโต ศักยภาพในการสร้างสรรค์ ศักยภาพในการใช้ชีวิตของประชาคม พวกมันเป็นดั่งเนื้อร้ายที่ค่อยๆ ทำลายสุขภาพของประชาคมไปทีละน้อย ทีละน้อย นับวันเนื้อร้ายนี้มันยิ่งขยายตัวกัดกร่อนแก่นแกนสำคัญของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชนเข้าไปทุกที สิ่งที่เราและท่านทั้งหลายพึงกระทำคือต้องต่อต้านโครงสร้างห่าเหวนี้อย่างแข็งขันไม่ย่อท้อ หากเป็นไปได้เราทั้งหลายจำเป็นจะต้องร่วมมือกันโค่นล้มราชวงศ์ผู้บริหารและโค่นล้มอธิการบดีเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาคม ผู้บริหารของประชาคมควรจะต้องมาจากฉันทามติของประชาคม หาใช่มาจากอำนาจมืดนอกประชาคม หากเราไม่ต่อต้านแล้วไซร้ประชาคมของเราคงจะฉิบหายเป็นแน่

แถลงการณ์ 4 พฤษภาคม

แถลงการณ์ 4 พฤษภาคม

เรื่อง Young Pioneers1
ผู้แปล Sarid Siriteerathomrong
บรรณาธิการ Pathompong Kwangtong

ผืนผ้าแดง, ธงแดง, พรมแดง. ประชาชนในโถงประชุมแห่งประชาชนแสดงตนในชุดสีแดง เมื่อคุณเงยหน้าขึ้น เบื้องหน้าของคุณก็จะเป็นการชุมนุมเพื่อรำลึกถึงการครบรอบหนึ่งร้อยปีของขบวนการ 4 พฤษภาฯ 1919 ตัวอักษรที่ถูกประดับไว้อย่างยิ่งใหญ่แต่ก็ผิดที่ผิดทางจนกระตุ้นให้คนที่เห็นรู้สึกชวนหัว

ณ ขณะนี้ ในวันที่เรียกกันว่าวันแห่งยุวชน ‘แดง’ นักศึกษาหัวก้าวหน้าแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 6 คนถูกควบคุมตัวไปอย่างไร้เหตุผล

ในงานประชุมรำลึก พวกเขาขับร้องเพลง ‘ภารกิจฟื้นฟูชาติจักสำเร็จได้ด้วยการต่อสู้’ ประโยคบนป้ายที่อยู่เหนือหัวพวกเขาเขียนไว้ว่า “จงมุ่งมั่นเพื่อจดบันทึกคุณประโยชน์อันภาคภูมิของเยาวชนเพื่อให้ตระหนักถึงความฝันที่จะฟื้นฟูชาติจีนอันยิ่งใหญ่” เหล่าเยาวชนที่นั่งอยู่กำลังตั้งใจฟังและจดบันทึกทุกคำพูดของท่านเลขาธิการอย่างบ้าคลั่ง

แต่เมื่อสองวันก่อนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งถูกจับกดลงบนพื้นถนน มือถูกมัดไพล่หลัง ถูกฉุดกระชากลากเข้าไปในรถตำรวจ ถูกเตะ ถูกซ้อม

และเพิ่งเมื่อวานนี้เอง ที่พระอาทิตย์แห่งแปดหรือเก้านาฬิกาในตอนเช้า2ได้เป็นประจักษ์พยานถึงการหายตัวไปของนักศึกษาทั้งหกคน เสียงสุดท้ายจากพวกเขาคือเสียงร่ำไห้ผ่านสายโทรศัพท์ที่พวกเขาโทรไปหาผู้ปกครองเพื่อบอกว่าพวกเขาถูกจับ

พวกเขาไม่ใช่อาชญากรผู้ทำผิดกฎหมาย พวกเขาทำแต่สิ่งที่แสดงถึงความภักดีต่อลัทธิมาร์กซ์ พวกเขายอมมอบความเยาว์วัยเพื่อประโยชน์สุขของแรงงาน ในวันครบรอบหนึ่งร้อยปีของขบวนการสี่พฤษภาฯและวันแรงงานสากลในวันที่หนึ่งพฤษภาฯที่กำลังจะมาถึง

หอประชุมแห่งประชาชนช่างกว้างขวางและสว่างไสว ประชาชนในหอประชุมต่างแต่งกายน่าเคารพนับถือและได้รับการต้อนรับด้วยถ้อยคำซ้ำๆ ย้ำๆ ว่า “ความเยาว์วัย, เวลา, และการยึดมั่นทุ่มเท!” แต่ที่ด้านนอกหอประชุมการจัดกิจกรรมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิด ‘การรบกวนความสงบเรียบร้อยต่อสาธารณะ’ ถูกสั่งห้าม สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือนั่งดูกีฬา

นี่คืองานเฉลิมฉลองที่ถูกดูหมิ่น นี่คือจิตวิญญาณที่ถูกเหยียดหยาม ถ้าหากเราไม่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อมันแล้วไซร้จิตวิญญาณที่แท้จริงแห่งสี่พฤษภาฯจะแปดเปื้อนและสูญสลายหายไปในอันธการ

***

เมื่อร้อยปีก่อน กลุ่มนึกศึกษาสี่พฤษภาฯได้แรงบันดาลใจจากการเรียกร้องให้สู้เพื่อเอกราชและกำจัดผู้ทรยศชาติ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมนักศึกษาจึงปฏิเสธการเข้าชั้นเรียน แรงงานนัดหยุดงาน พ่อค้าวาณิชปฏิเสธตลาด ประชาชนทุกหนแห่งเข้าร่วมกับคลื่นแห่งการต่อต้านสินค้าจากญี่ปุ่นในขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมและศักดินาที่ขยายตัวออกไปดั่งไฟป่าที่โหมไหม้ไปทั้งประเทศ นี่คือการปะทุครั้งใหญ่ของมวลชน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นแรงงานของจีนก้าวขึ้นมาเป็นพลังสำคัญในฐานะพลังอิสระ สิ่งนี้ก่อให้เกิดธรรมเนียมอันน่าปลื้มปีติของการเคียงบ่าเคียงไหล่กันระหว่างปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าและชนชั้นแรงงาน

ขบวนการนี้ได้ขจัดการทุจริตเก่าๆ และแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ ในแง่วัฒนธรรมแล้วขบวนการนี้ได้รื้อทำลายอำนาจนิยม การทุจริต การกดขี่ โครงสร้างลำดับชั้นของพวกศักดินา เผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตย วิทยาศาสตร์ เสรีภาพและความเสมอภาค ในแง่การเมืองขบวนการนี้ได้ขยายฐานของผู้ที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมและศักดินาไปสู่แรงงาน นักศึกษา มวลชนผู้เสาะแสวงหาความเท่าเทียมทางสังคมและการปลดแอกชาติตามแนวทางสังคมนิยม ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อเผยแพร่ลักทธิมาร์กซ์ในประเทศจีนให้เป็นเสาเอกแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน!

เมื่อหันกลับมาดูปัจจุบัน เสียงกู่ร้องแห่งการต่อสู้เหล่านั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ ขบวนการต่อสู้อันยิ่งใหญ่หลับไหลอยู่ในประวัติศาสตร์เมื่อร้อยปีที่แล้ว

หนึ่งศตวรรษต่อมา กงล้อแห่งประวัติศาสตร์ได้เดินหน้าอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่สั่นสะเทือนสวรรค์เกิดขึ้นแล้วในจีน สามสิบปีผ่านไปหลังขบวนการสี่พฤษภาฯ ชัยชนะของการปฏิวัติและการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมในจีนใหม่ที่ซึ่งความฝันของบรรพบุรุษได้พ่านพ้นไป กลายเป็นอดีต

หกสิบปีผ่านไปหลังจากขบวนการสี่พฤษภา พวกลิ่วล้อทุนนิยมผู้มีอำนาจในพรรคได้ทรยศต่อสังคมนิยม พวกเขาขับขานวลี “แมวตัวไหนก็ตามที่จับหนูได้คือแมวที่ดี” ด้วยเสียงอันสูงเสียดหู ซ้ำร้ายพวกเขาเลือกเดินทางทุนนิยมที่ ‘ให้ใครบางคนรวยก่อน’

หลังจากดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าไปสี่สิบปี จีนก้าวหน้าขึ้นอย่างมากควบคู่ไปกับการพัฒนาของเศรษฐกิจแบบตลาดและแสดงให้ชาวโลกเห็น ‘ปาฏิหาริย์แดนมังกร’ แต่ภายใต้ท้องมังกรตัวนี้กลับซุกซ่อนปัญหาสังคมต่าง ๆ ไว้มากมายเหลือคณานับ

เศรษฐกิจแบบตลาดเป็นบาทหลวงผู้ทำพิธีสมรสให้แก่นายอำนาจและนางเงินตรา ราชการถูกแปรเปลี่ยนจาก ‘ข้ารับใช้ของประชาชน’ เป็น ‘นายของประชาชน’ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยคนจนยิ่งถ่างออกกว้างขึ้นยิ่งกว่าในช่วง ‘spring breeze’ แห่งยุคปฏิรูปเสียอีก ในปัจจุบันคนจำนวนเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรถือครองความมั่งคั่ง 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งสังคม เพียงแค่เศรษฐีที่รวยที่สุดในจีนสามคนก็มีทรัพย์สินรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 8 แสนล้านหยวนแล้ว!

จากชนชั้นแรงงานที่เคยเป็น ‘เจ้านายของประเทศ’ กลับกลายเป็น ‘ทาสแห่งหยดเลือดและหยาดเหงื่อ’ ต้องใช้ชีวิตเช่นไส้เดือนอยู่ในชั้นใต้ดิน ต้องประทังชีวิตด้วยผักดองกับหมั่นโถ่วนึ่ง สวมใส่อุปกรณ์ที่เรียกกันว่าหมวกนิรภัยที่แตกกระจายตั้งแต่โดนกระแทกครั้งแรก กระเสือกกระสนทำงานชั่วชีวิตเพื่อไปสู่บั้นปลายที่มีแต่ความเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจรออยู่

ความรู้สามารถวัดได้ด้วยเงิน ชีวิตสามารถวัดได้ด้วยเงิน บุคลิกภาพก็สามารถวัดได้ด้วยเงินเช่นกันอุดมการณ์ถูกควบคุม ถ้อยแถลงถูกเซนเซอร์ ในขณะที่ความเชื่อแบบศักดิดาและข้าทาสเช่น ‘ผู้ชายเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ ผู้หญิงเปรียบดั่งผืนพสุธา’ หรือการจัดลำดับชั้นแบบขงจื่อกลับถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

คุณสามารถเห็นธงแดงพลิ้วไหวอยู่ทั่วทุกหัวระแหงประหนึ่งว่ากำลังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของก๊กมินตั๋งก่อนปี 1949 เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ‘แรงงาน’ คือผู้ที่สร้างปาฏิหาริย์แห่งมังกรขึ้นมาด้วยสองมือของพวกเขาหาใช่ใครอื่นไม่ แต่พวกอภิสิทธิ์ชนกลับสวาปามความมั่งคั่งและอำนาจทั้งหมดไปเสียฉิบ เช่นนั้นแล้วมันเป็น ‘การฟื้นฟูอันยิ่งใหญ่’ ของผู้ใดกัน?

มันหาใช่การฟื้นฟูของประชาชาติจีนแต่อย่างใด กลับกันมันคือการฟื้นฟูของพวกชนชั้นกระฎุมพี มันหาใช่การผงาดขึ้นของของสังคมนิยมจีน แต่เป็นการผงาดขึ้นของ ‘จักรวรรดิใหม่’ ต่างหาก!

***

ในปัจจุบันอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางจิตวิญญาณราดิคัลแห่งขบวนการสี่พฤษภาฯคือ อ้ายพวกอำมาตย์กระฎุมพี (bureaucratic bourgeois class)

ซ้ำร้ายอำมาตย์พวกนี้ยังเป็นหินโสโครกที่ขวางคลื่นแห่งความก้าวหน้าทางสังคมของจีนและยังเป็นศัตรูคู่อาฆาตของชนชั้นแรงงานจีนอีกต่างหาก

นอกจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินโดยตรงจากแรงงานแล้ว พวกอำมาตย์กระฎุมพียังขูดรีดแรงงานซ้ำสองด้วยการทำให้สวัสดิการสุขภาพ บ้านเรือน และการศึกษากลายเป็นสินค้ามาขายให้แรงงาน พร้อมทั้งควบคุมความคิดและการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ในสังคม เผยแพร่ลัทธิขงจื่อ ‘จารีตครอบครัว’ ‘ศีลธรรมของผู้หญิง’ อีกทั้งอุดมการณ์ศักดินาล้าหลังนานาประการอย่างแยบคาย พยายามกำจัดสุ้มเสียงใดๆ ที่หมายจะต่อกรกับพวกมัน ยึดจับเอาสวัสดิการทางสังคมทั้งหลายให้กลายเป็นตรรกะของทุน!

ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน”

ในวสันตฤดูและคิมหันตฤดูเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว นักศึกษาหัวก้าวหน้าได้เดินเท้าเข้าสู่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อต่อสู่กับอำมาตยาธิปไตย การทุจริต เงินเฟ้อ พวกพ่อค้าหน้าเลือดและการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งถูกทำให้เสื่อมเสียภายหลังจากการปฏิรูปเพียงสิบปี! พวกเขาต้องการประชาธิปไตย เสรีภาพ วิทยาศาสตร์ นิติธรรม พวกเขาคาดหวังที่จะบรรลุการทำให้จีนเป็นสมัยใหม่ ขบวนการดังกล่าวเริ่มขึ้นโดยนักศึกษาในปักกิ่งแต่ท้ายที่สุดก็ได้ปลุกนักศึกษาและประชาชน ทั้งจากในปักกิ่งและทั่วประเทศให้ลุกฮือขึ้นมาได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือความสำเร็จและความก้าวหน้าที่สำคัญในประวัติศาสตร์

อนิจจา เส้นทางแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพกลับมีหล่มลึกไร้ก้นบึ้งที่คอยขวางอยู่ มันคือหล่มแห่งความสัมพันธ์ที่ขูดรีดของทุนนิยม! ตราบใดที่ท่านมิได้เดินในเส้นทางสังคมนิยมซึ่งทอดตัวอยู่เบื้องหลังทุนนิยมแล้วไซร้ คำตอบของคำถามเรื่องประชาธิปไตยแลเสรีภาพจักมิมีให้ท่านดอก

เช่นนั้นแล้วความรับผิดชอบทางสังคมของเยาวชนในทุกวันนี้คืออะไรกันเล่า?

มันไม่ได้ดำรงอยู่ในการพูดคุยถึงการฟื้นฟูชาติ มันไม่ได้ดำรงอยู่ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของชาติ แต่มันดำรงอยู่ในสำนึกทางสังคมของเราด้วยการที่เอาตัวเองไปเข้าร่วมขบวนการต่อต้านอาณัติสวรรค์ที่ชื่อทุนนิยม เลือกเดินในเส้นทางประชาธิปไตยเพื่อความเท่าเทียมอีกครั้ง ระหว่างการเดินทางนั้นเยาวชนจะค่อยๆ บรรลุว่า ‘ลัทธิมาร์กซ์เท่านั้นที่สามารถช่วยจีนได้!’

ขบวนการนี้ไม่ควรถูกปิดปาก ไม่ควรถูกกำราบหรือถูกลดทอนให้เหลือเพียง ‘ชีวิต’ ในหอประชุมแห่งประชาชนได้ นักศึกษาที่ออกไปประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในหูเป่ย นักศึกษาที่ออกไปสู้กับโจรรับจ้างที่นานกิง และยังมีอีกมากที่ต่อสู้กับอำมาตย์ในมหาวิยาลัยตนเอง จิตวิญญาณแห่งสี่พฤษภาฯ ได้ลุกโหมด้วยเพลิงอันโชติช่วงอยู่ในตัวของพวกเขา

เยาวชนในปัจจุบัน ไม่ควรต่อสู้เพียงเพื่อประชาธิปไตยในวิทยาลัยเพื่อตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่พวกเขาควรขยายขอบเขตการต่อสู้ตั้งแต่ในโรงงาน ในชนบทไปจนจรดทุกอาณาเขตในชีวิตทางสังคมของพวกเขา

เยาวชนร่วมสมัยเอ๋ย การกล้าต่อสู้กับอำนาจเผด็จการนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป พวกเขาควรกล้าที่จะรวมตัวกับแรงงานและชาวไร่ชาวนาเพื่อร่วมเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ทางชนชั้น

จงจดจำทุกห้วงขณะ สังคมใหม่ที่พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาคือสังคมที่นำโดยชนชั้นแรงงาน ด้วยสังคมนี้เท่านั้นที่ทำให้ประชาชนเป็นนายแห่งชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง สังคมซึ่งแสวงหาความเท่าเทียมและเสรี แสวงหาการพัฒนาการดำรงอยู่ของมนุษย์ในทุกด้าน ด้วยสังคมนี้จะเป็นสังคมที่ปฏิเสธการขูดรีดหรือการกดขี่ทางชนชั้นอย่างสิ้นเชิง เส้นทางของพวกเราคงไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันอาจจะยาวไกลน่าเหนื่อยหน่าย แต่หากพวกเราต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่เคียงข้างกันไป วันที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพและประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็จักมาถึง

 


1 บทความนี้แปลมาจาก ‘Young Pioneers, May Fourth Manifesto, NLR 116/117, March–June 2019’, New Left Review <https://newleftreview.org/issues/ii116/articles/young-pioneers-a-may-fourth-manifesto> [accessed 4 May 2021].

2พระอาทิตย์ยามแปดหรือเก้านาฬิกาในตอนเช้า’ เป็นการเหน็บแหนมคำเปรียบเปรยของเหมา ที่พูดถึงนักศึกษาและผู้ไปเรียนรู้ที่มอสโกปี 1957: ‘เหล่าเยาวชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกำลังและแรงงานเอ๋ย ชีวิตของพวกเธอกำลังเบ่งบานดั่งเช่นพระอาทิตย์ในตอนแปดหรือเก้าโมงเช้า ความหวังของพวกเราขอฝากไว้กับพวกเธอ โลกเป็นของเธอ อนาคตของชาติจีนเป็นของพวกเธอ’

เป็นคอมมิวนิสต์ซื้อของแบรนด์เนมได้หรือไม่?

เป็นคอมมิวนิสต์ซื้อของแบรนด์เนมได้หรือไม่?

ผู้เขียน:
Peranat Pruksarat
Sarid Siriteerathomrong
Rawipon Leemingsawat

หนึ่งในคำถามของพวกปฏิกิริยาที่มีต่อเราชาวคอมมิวนิสต์คือ เป็นคอมมิวนิสต์ใช้ของแบรนด์เนมได้ด้วยหรือ เมื่อพวกปฏิกิริยาเห็นว่าบรรดาสหายของพวกเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้าและใช้ของแบรนด์เนม พวกเขาก็ต่างพากันเยาะเย้ยถากถางว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นพวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกโดยแท้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราขอเสนอว่ามูลเหตุสำคัญมี 2 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง พวกปฏิกิริยาเข้าใจว่าพวกคอมมิวนิสต์ต้องการเสนอให้สังคมย้อนหลังกลับไปเป็นสู่สังคมบุพกาล พวกเขาเข้าใจว่าสังคมบุพกาลเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมจากการที่สังคมมีพลังการผลิตที่ต่ำและการแบ่งงานที่ไม่ชัดเจน ผู้คนในสังคมจึงมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงรักใคร่กลมเกลียว คอมมิวนิสต์ตามความเข้าใจของพวกปฏิกิริยาจึงหมายถึง พวกต่อต้านเทคโนโลยี พวกบูชาความลำบาก และเป็นพวกไดโนเสาร์ สอง พวกปฏิกิริยาเข้าใจว่าผลิตผลใดๆ ในโลกล้วนมาจากระบบทุนนิยมราวกับว่าระบบทุนนิยมคือพระผู้ทรงมหิทธานุภาพที่สามารถบัลดาลสรรพสิ่งดั่งใจปรารถนา มันจึงเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันเมื่อพวกคอมมิวนิสต์ต่างมุ่งหน้าไปสู่ห้างสรรพสินค้าแทนที่จะกลับไปทำไร่ไถนาอย่างสามัคคี

เราคิดว่าเหตุผลข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและสมควรได้รับการโต้แย้ง หากโลกทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่มีปัญหาเราควรเปลี่ยนแปลงมัน แต่หากข้อสมมติฐาน (Hypothesis) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงได้มุ่งเป้าพาเรากลับไปยังสังคมบุพกาลพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร หากข้อสมมติฐานเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการต่อสู้คือการทำให้ตัวเองต้องลำบากพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร หากข้อสมมติฐานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของพวกเราไม่ได้ดีขึ้นพวกเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร สมมติฐานเกี่ยวกับสังคมคอมมิวนิสต์จึงหมายถึงสังคมที่ดีกว่าสังคมทุนนิยมและดีกว่าสังคมบุพกาล คอมมิวนิสต์ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ได้บูชาความยากลำบาก เราเพียงต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ชีวิตที่ดีกว่าเดิมหมายถึงการที่เราทุกคนอยู่ในสังคมที่มีพลังการผลิตที่ก้าวหน้า และสิ่งที่สังคมทุนนิยมให้ไม่ได้แต่สังคมคอมมิวนิสต์ให้ได้ก็คือ ข้อสมมติฐานที่ว่าเราทุกคนจะได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งที่เกิดจากพลังการผลิตที่ก้าวหน้าภายในสังคมทั้งหมด พวกปฏิกิริยาอาจสงสัยว่าสังคมที่ก้าวหน้าขนาดนี้จะอุบัติขึ้นได้อย่างไร เราจึงขอฝากไปยังพวกปฏิกิริยาว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เราทุกคนต้องเผชิญหรอกหรือ ยุคสมัยได้เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายเข้าร่วมเป็นคอมมิวนิสต์และหาทางทำให้ข้อสมมติฐานดังกล่าวเป็นจริง

การมุ่งหน้าไปยังห้างสรรพสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะพวกเราต่อต้านระบบทุนนิยมไม่ได้ต่อต้านผลิตผลของมนุษย์ ความคิดนี้วางอยู่บนฐานคิดที่ว่าผลิตผลต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากการร่วมมือของแรงงาน วัตถุดิบ เครื่องมือในการผลิต องค์ความรู้ บรรดาปัจจัยการผลิตล้วนแต่เป็นการตกตะกอนของแรงงานทั้งสิ้น “ใครกันคือผู้สร้างโลกใบนี้ขึ้นมา คือพวกเราชนชั้นผู้ใช้แรงงาน” ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยมทำให้นายทุนสามารถริบเอาดอกผลจากแรงงานไปเป็นของตัวเองได้ ทุนเป็นเพียงปรสิตคอยสูบเลือดสูบเนื้อเอาชีวิต ฐานคิดเช่นนี้ทุนไม่ได้ผลิตสร้างสิ่งใดเลย ทุนแค่เพียงฉกฉวยดอกผลจากแรงงาน ทุนฉีกกระชาก ประกอบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาใหม่และนำออกขายเพื่อผลกำไร ทุนกล่าวว่ากำไรจงเจริญ! ข้อพิสูจน์ฐานคิดแบบนี้ที่ดีที่สุดคือการจินตนาการถึงกระบวนการใช้แรงงานที่ปราศจากระบบทุนนิยมและกระบวนการใช้แรงงานโดยปราศจากแรงงาน ในขณะที่จินตนาการแบบแรกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่ในกรณีหลังกลับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีแรงงานแล้วกระบวนการใช้แรงงานจะดำรงอยู่ได้อย่างไร เมื่อไม่มีกระบวนการใช้แรงงานสิ่งต่างๆ จะถูกผลิตขึ้นมาจากอะไร

สถานการณ์ในตอนนี้เราทุกคนอยู่ในระบบทุนนิยม ทุนนิยมเป็นโครงสร้างหลักของชีวิต ข้อเสนอนี้ไม่ได้กำลังจะกล่าวว่าเราไม่มีวันทำลายล้างระบบทุนนิยมหรือจงละทิ้งความหวังและจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าเสียเถิด ไม่ใช่แน่นอน เรากำลังจะกล่าวว่าหากเราไม่บริโภคแล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เมื่อทุกๆ การแลกเปลี่ยนและการบริโภคได้ถูกระบบทุนนิยมผนวกรวมเข้าสู่ตรรกะของมัน การเสนอให้ปฏิเสธไม่บริโภคสินค้าจึงเป็นเพียงความคิดอันไร้เดียงสาของพวกปฏิกิริยาตัวน้อยที่มุ่งหวังให้ชาวคอมมิวนิสต์เข้าไปอยู่ในโลกเศรษฐกิจพอเพียงอันไร้มลทินมัวหมองของพวกเขา พวกปฏิกิริยาตัวน้อยเหล่านี้นี่แหละที่จะคอยชี้หน้าไล่บี้สหายทั้งหลายที่เดินเข้าห้างสรรพสินค้าและใช้ของแบรนด์เนม พวกเขาอาจมอบความหวังดีจอมปลอมเล็กๆ น้อยๆ ให้กับสหายด้วยการเสนอให้เลิกใช้สินค้าจากทุนข้ามชาติแต่สนับสนุนให้หันมาบริโภคสินค้าของทุนในชาติแทน แน่นอนว่าผลลัพธ์ของมันคือชาตินิยมและการตอกย้ำมายาภาพเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกกษัตริย์นิยม การปฏิเสธไม่บริโภคสินค้าด้วยการทำสิ่งต่างๆ เอง กลับไปใช้ควายไถนาเอง ซักผ้าเอง สร้างคอมพิวเตอร์เอง และการไม่สนับสนุนสินค้าต่างชาติต่างเป็นยุทธวิธีที่ผิดพลาดในการทำลายล้างระบบทุนนิยม เนื่องจากวิธีแรกปฏิเสธพลังการผลิตที่ก้าวหน้า วิธีที่สองเป็นเพียงการต่อต้านลักษณะการผูกขาดของทุนข้ามชาติไม่ใช่การต่อต้านทุนทั้งระบบ

ข้อเสนอของพวกเราคือปล่อยให้พวกปฏิกิริยาโอบกอดข้อวิจารณ์เชิงศีลธรรมดังกล่าวไว้ให้แน่น ส่วนพวกเราโอบกอดความเป็นจริง แต่ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะแสวงหาโลกที่ดีกว่าทุนนิยม หากท่านเป็นผู้โอบกอดความเป็นจริงคำถามที่ตามมาคือ What is to be done ? นี่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันขบคิด ศีลธรรมแบบใดที่เหมาะที่ควรแก่บรรดาผู้ต่อต้านทุนนิยม กลยุทธ์แบบไหนที่จะนำทางพวกเรา ยุทธวิธีแขนงใดจะสำเร็จผล หรือที่สำคัญที่สุดคือ เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยมไปพร้อมกับต่อต้าน รื้อ ทำลายระบบทุนนิยมและสร้างโลกใหม่ไปพร้อมๆ กันอย่างไร

——–

เครดิตภาพปกจาก: https://wordlesstech.com/famous-logos-communist-regimes/

——–

บทวิพากษ์ว่าด้วยประชาธิปไตยปากว่าตาขยิบ และบริษัทที่ชื่อว่ามหาวิทยาลัย

บทวิพากษ์ว่าด้วยประชาธิปไตยปากว่าตาขยิบ และบริษัทที่ชื่อว่ามหาวิทยาลัย

ผู้เขียน Sarid Siriteerathomrong
บรรณาธิการ Peam Pooyongyut

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประท้วงชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารจากคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญของคนรุ่นใหม่เพื่อปลดปล่อยประเทศไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้ที่ถูกจุดประกายโดยกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ลุกลามไปสู่คนเจเนอเรชั่นอื่นๆ ให้ลุกขึ้นมาสู้เคียงข้างพวกเขาในโครงการการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ โดยข้อเรียกร้องหลักของการต่อสู้ครั้งนี้มีสามประการหลักคือ 1).รัฐบาลเผด็จการชุดปัจจุบัน ต้องยุบสภา 2).เรียกร้องให้ หยุดคุกคามประชาชน และ 3).ต้องทำการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดในอีกหลายประเด็นย่อยที่สำคัญ จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม มิได้ มีข้อใดที่ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถกระทำได้

ขอบคุณภาพจาก prachachat.net

กระนั้นก็ตาม หากท่านได้ติดตามข่าวไม่ว่าจะด้วยช่องทางใดท่านคงจะเห็นความพยายามในการคุกคามแกนนำ ผู้ปราศรัย หรือผู้ใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อต้านจากรัฐบาลเผด็จการทหารด้วยข้อเรียกร้องข้างต้น ซึ่งผู้เขียนขอประณามการกระทำเหล่านี้ แต่ยังมีกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าท่านๆ เหล่านี้จะออกปากบอกว่าสนับสนุนการชุมนุมและข้อเรียกร้องของนักศึกษา แต่การกระทำนั้นกลับตรงกันข้าม ผู้เขียนจึงอยากจะขอกล่าวถึงกรณีสำคัญดังต่อไปนี้

หนึ่ง ผู้เขียนอยากจะยกกรณีของมหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมไปถึงอาจารย์ทั้งหลาย ที่ภายหลังจากมีการชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีบุคคลในตำแหน่งรองอธิการบดีออกประกาศส่วนตัวเพื่อขอโทษต่อสาธารณะด้วยสาเหตุว่า มีนักศึกษาที่ชุมนุมปราศรัยเกินขอบเขตของกฎหมายซึ่งอาจจะสร้างความขุ่นเคืองใจต่อคนทั่วไป ภายหลังจากนั้นก็มีประกาศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการ ออกมาขอโทษในทำนองเดียวกับอาจารย์คนก่อนหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนักการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่งที่ออกหน้า ปราม นักศึกษาในนามของ ความห่วงใยและประสบการณ์ที่ตนมีมาก่อน ผู้เขียนรู้สึกเสียใจและผิดหวังอย่างยิ่งต่อผู้บริหารและมหาวิทยาลัยรวมไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มักนำเอาภาพลักษณ์ของ ‘การเป็นผู้รักในประชาธิปไตย’ มาอธิบายตนเองอยู่เสมอ มิพักต้องไปพูดถึงความกลับกลอกปลิ้นปล้อน เอาตัวรอดในกรณีที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตกปากรับคำกับนิสิตของตนว่ายินดีที่จะให้จัดชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าจะมีการชุมนุม ผู้บริหารจุฬาฯ กลับออกประกาศว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าเป็นห่วงนิสิตจุฬาฯและประชาคมจุฬาฯ ทั้งในแง่สวัสดิภาพและความปลอดภัย แต่ในทางกลับกันเมื่อปี 53จุฬาฯ กลับยินดีที่จะให้ม็อบ กปปส. ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อชุมนุม ถึงขั้นออกหนังสือมวลมหาจุฬาชนเพื่อรำลึกถึงการชุมนุม

สอง ผู้เขียนจะขอยกกรณีของคณะๆ หนึ่งที่พร่ำสอนการเมืองในมหาวิทยาลัย และเป็นคณะที่ผู้เขียนจบการศึกษามา โดยกรณีนี้มีนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งต้องการแขวนป้ายที่ตึกของคณะเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องหลักสามประการ แต่นักศึกษาเหล่านั้นกลับต้อง ขออนุญาต กับทางคณะก่อนตามระเบียบของการขอใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจและไม่อาจยอมรับได้ก็คือ ทางคณะตั้ง “เงื่อนไข” กับนักศึกษาไว้ 4 ข้อ เงื่อนไขข้อ 1-3 ดูจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เงื่อไขข้อ 4 ที่ทางคณะตั้งไว้คือ ‘หากเกิดประเด็นหรือปัญหาใดเกิดขึ้น ทางนักศึกษาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเอง’ เงื่อนไขข้อนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะออกมาจากคณะที่ซึ่งคอยพร่ำสอนการเมืองให้บัณฑิตหลายต่อหลายรุ่น ผู้เขียนขอประณามการกระทำนี้ของทางคณะอย่างหัวชนฝา

จากสองกรณีข้างต้น นอกจากการประณามแล้ว ผู้เขียนอยากจะขอโต้แย้งและพูดข้อเสนอจากความคิดเห็นของผู้เขียน

กรณีที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักการเมืองที่อ้างตนว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตยออกประกาศลอยแพและห้ามปรามนักศึกษา ผู้เขียนอยากจะโต้แย้งการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลดังนี้ การที่คนในตำแหน่งรองอธิการบดีหรือตำแหน่งผู้บริหารของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยประกาศขอโทษในสิ่งที่นักศึกษาทำลงไป ในแง่หนึ่งมันยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญเผด็จการที่ชอบกล่าวอ้างว่าผ่านการเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไร้ซึ่งความชอบธรรมใดๆ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยเผด็จการและถูกเห็นชอบโดย ส.. ที่เป็นกลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือที่พวกเขาเลือกมาให้เป็นขี้ข้าตน แต่กลับมาอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญนี้ ในอีกแง่หนึ่ง การออกมาขอโทษเช่นนี้มันไปทำลายความชอบธรรมและลดทอนข้อเสนอของการชุมนุม การขอโทษแทนนักศึกษาทำให้การใช้สิทธิของนักศึกษากลายเป็นเพียงการกระทำที่ผิดกฎหมายรวมถึงกฎหมู่ (ของคนบางกลุ่ม) ข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ชุมนุม ไม่มี ข้อไหนเลยที่จะก้าวล่วงหรือเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้และเป็น สิทธิ ที่พึงกระทำได้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่คณาจารย์ นักการเมืองและผู้บริหารมหาวิทยาลัยพึงกระทำก็คือ ต้องยืนยันในสิทธิ ดังกล่าวของนักศึกษาด้วยการออกมาปกป้องพวกเขา โอบอุ้มพวกเขา สนับสนุนพวกเขาและถึงที่สุดแล้วคือเข้าร่วมกับพวกเขา มิใช่การผลักไสและตัดช่องน้อยแต่พอตัว

ส่วนในกรณีที่สอง การตั้งเงื่อนไขของคณะที่สอนการเมืองต่อการขออนุญาตติดป้ายสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษา กรณีนี้ทำให้เกิดวิวาทะหนึ่งขึ้นมาคือ “ทางคณะเคารพเสรีภาพในการพูดของผู้จัดโดยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการเรื่องสถานที่เท่านั้น มิได้มีพันธะในการรับผิดชอบใดๆ ต่อตัวผู้จัดหากเกิดปัญหาขึ้น” หากมองตามตรรกะที่แข็งทื่อแบบที่ข้อเสนอนี้กล่าวมา มันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะคณะเป็นเพียงผู้เอื้ออำนวยสถานที่เท่านั้น ไม่ได้มีพันธะรับผิดชอบใดๆ การแสดงออกถึงเสรีภาพของปัจเจกสามารถทำได้ แต่ปัจเจกนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำไป ผู้เขียนอยากจะขอโต้แย้งว่า การมองเช่นนี้สุดโต่งและวางอยู่บนการอธิบายความสัมพันธ์แบบตลาด ตรรกะตลาดเช่นนี้ได้ลดทอน/ละเลยบทบาทด้านอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยให้เหลือเพียงความสัมพันธ์แบบผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งที่จริงแล้วสถานศึกษาควรจะต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การบ่มเพาะอุดมการณ์ ความคิดสร้างสรรค์มิใช่สถานที่แห่งการบังคับกดขี่และง่ายต่อการคุกคามจากอำนาจนอกสถานศึกษา คณาจารย์และสถานศึกษามีพันธะที่จะต้องปกป้องหน่อเนื้อเชื้อไขของประชาธิปไตยมิใช่หรือ? สถานศึกษาต้องปกป้องการเป็นพื้นที่แห่งการตั้งคำถามและการแสดงออกมิใช่หรือ? การเปิดทางให้อำนาจเถื่อนคุกคามถึงในสถานศึกษาจึงก่อให้เกิดคำถามว่า สถานศึกษาแห่งนั้นมีไว้ทำไม? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะที่พร่ำสอนเรื่องประชาธิปไตยให้กับนักศึกษาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

สุดท้ายนี้ผู้เขียนจะขอยกข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of The Oppressed) ของ เปาโล เฟรเร เพื่อเป็นการเตือนสติและชักชวนให้ท่านทั้งหลายได้ขบคิดกับสถานการณ์ปัจจุบันของขบวนการนักเรียนนักศึกษา และเพื่อเรียกร้องให้ท่านที่ยังแคลงใจได้เข้าร่วมกับการเรียกร้องครั้งนี้

เมื่อมีการสถาปนาความสัมพันธ์ของการกดขี่ขึ้น ความรุนแรงก็เริ่มต้นขึ้นเรียบร้อยแล้ว ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติว่า ความรุนแรงถูกริเริ่มโดยผู้ที่ถูกกดขี่ก่อนเลย ผู้ถูกกดขี่จะเป็นต้นเหตุของความรุนแรงได้อย่างไรกัน ในเมื่อพวกเขาเองก็เป็นผลของความรุนแรงนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พวกเขาจะให้การสนับสนุนสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกดขี่? จะไม่มีทางมีสิ่งที่เรียกว่าผู้ถูกกดขี่ หากไม่มีสถานการณ์ความรุนแรงที่ทำให้พวกเขายอมจำนนเกิดขึ้นก่อนหน้า


ความรุนแรงเริ่มต้นโดยคนที่กดขี่ คนที่เอารัดเอาเปรียบ และคนที่มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่ใช่คนที่ถูกกดขี่ คนที่ถูกเอาเปรียบ หรือคนที่ถูกมองข้ามความเป็นมนุษย์ ความเกลียดชังไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยคนที่ไม่เป็นที่รัก แต่จากคนที่ไม่สามารถรักได้เพราะพวกเขาไม่เคยรักใครเลยนอกจากตัวเอง ความหวาดกลัวไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนที่ไร้ทางสู้ ซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของความหว
ดกลัว แต่จากคนหัวรุนแรงที่มีอำนาจสร้างสถานการณ์ การปกครองแบบเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นโดยผู้ที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่จากพวกที่นิยมและสนับสนุนเผด็จการ ความไร้มนุษยธรรมไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยผู้ที่ความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกปฏิเสธ แต่จากคนที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนอื่น”

ศักดินาจงพินาศ ประชาราษร์จงเจริญ