ผู้เขียน ice_rockster
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute

เราได้อยู่กับโรคระบาดโควิด-19 นี้มาเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปีแล้ว แน่นอนว่ามาตรการที่รัฐต่าง ๆ นำมาใช้ในการควบคุมหรือป้องกันการระบาดของโรคนี้ก็ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะการติดต่อของโรคนั้น สามารถติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่ง ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากการปฏิสัมพันธ์กัน สัมผัสกัน ใกล้ชิดกันของมนุษย์ ดังนั้น รัฐที่ต้องการควบคุมการระบาด จึงต้องห้ามไม่ให้ผู้คนส่งผ่านสารคัดหลั่งสู่กันให้ได้มากที่สุด อันเป็นเหตุให้ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์ (lockdown) หรือการปิดบ้านปิดเมืองนั่นเอง ซึ่งสาเหตุของการระบาดของโรคนี้ จึงนำมาสู่สภาวะพิเศษ หรือสภาวะฉุกเฉิน เป็นที่มาของการประกาศใช้ “สภาวะยกเว้น” ซึ่งเป็นการนำอำนาจเผด็จการมาใช้โดยชอบธรรม ภายใต้ข้ออ้างของการระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นที่มาของ “เผด็จการโควิด”

หากจะพูดถึงสภาวะยกเว้นแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการใช้คอนเซ็ปของจอร์โจ อากัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาชาวอิตาลี ในเรื่องของ state of exception ซึ่งก็คือเป็นการงดเว้นการใช้กฎหมายบางอย่าง เพื่อใช้กฎหมายอีกอย่าง กล่าวคือ สภาวะยกเว้นคือพื้นที่ไร้กฎหมายที่การบังคับใช้กฎหมายนั้นปราศจากกฎหมายในสภาวะที่จำเป็น รัฐสมัยใหม่จึงต้องใช้วิธีการที่สร้างสภาวะยกเว้นในแบบที่มีความชอบธรรม โดยฝ่ายรัฐจะออกกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกา หรือพระราชกำหนด (Agamben 2008, 38) มาเพื่อเชื่อมโยงบรรทัดฐานในสังคม (norm) กับความเป็นจริง ณ ขณะนั้น เพื่อให้เข้ากับสภาวะที่มีความจำเป็นนั้น ๆ และนำไปสู่การสถาปนาสภาวะยกเว้นที่จำเป็นในรัฐอย่างมีความชอบธรรมในที่สุด (Agamben 2008, 40) เพราะฉะนั้น โควิดจึงเป็น “สภาวะที่มีความจำเป็นนั้น ๆ” ทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการประกาศใช้สภาวะฉุกเฉินในที่สุด แน่นอนว่ากฎหมายอย่าง พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกาก็แล้วแต่ เป็นกฎหมายที่ไม่ต้องผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนอะไรทั้งสิ้น หากแต่เป็นการใช้อำนาจตราได้โดยรัฐบาลเองแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น จะกล่าวว่า รัฐสามารถสร้างเงื่อนไขของ “สภาวะที่มีความจำเป็นนั้น ๆ” หนึ่ง ๆ ขึ้นมา และสามารถรับลูกเองด้วยการออกกฎหมายอย่าง “พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกา” มาใช้เป็นเครื่องมือในการรวบอำนาจเพื่อประกาศสภาวะยกเว้น ก็สามารถทำได้ อำนาจรัฐในแง่นี้จึงมีความเป็นเผด็จการในตัวมันเอง

เราจึงสามารถกล่าวได้แบบนี้โดยไม่ต้องอ้างวลีอมตะของ คาร์ล ชมิทท์ (Carl Schmitt) ที่ว่า รัฏฐาธิปัตย์ คือผู้ที่ตัดสินใจเรื่องสภาวะยกเว้น“ หรือ “Sovereign is he who decides on the exception” (Schmitt 2010) เพียงเพราะรัฐสมัยใหม่ไม่ได้ต้องการความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในความหมายของพระเจ้าที่ประทานอำนาจมาให้กับรัฐ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสมัยใหม่มันไม่ได้อยู่ที่พระเจ้าหรือศาสนาใด ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่มันอยู่ที่ทุน หรืออำนาจในการใช้จ่ายต่างหาก ดังนั้น หากจะกล่าวว่า Capital is he who decides on exception ในปี ค..2021 ก็คงจะไม่แปลกนัก เพราะตัวรัฐเอง ก็ยังยืนอยู่ได้ด้วยขาของทุน จนกระทั่งมีประโยคอมตะที่อมตะไม่แพ้กันในประเทศไทยคือ “จะทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้ไปกระทบชนชั้นกลาง” เพราะการกระทบหรือไปเหยียบเท้าชนชั้นกลาง ก็เท่ากับทำให้ “คนส่วนใหญ่” ในสังคมสมัยใหม่เดือดร้อน จึงทำให้รัฐเป็นศัตรูกับคนส่วนใหญ่ที่ว่าในที่สุด

ชนชั้นกลางนั้น ครอบคลุมตั้งแต่ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน นายทุนน้อย พ่อค้า แม่ค้า ลูกของพ่อค้า ที่ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปในสังคม กล่าวคือ คนที่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองในระบบสักเท่าใด (เว้นเสียแต่ว่าจะ strike นั่นก็คงจะเป็นอีกเรื่อง) คนเหล่านี้พึ่งพาเศรษฐกิจแบบวันต่อวัน เศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินต่อไปแบบไม่สะดุด ต้องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เพราะหากว่าวันไหนหยุด นั่นหมายถึงเศรษฐกิจจะหยุดนิ่ง และทำให้กลไกของเศรษฐกิจแบบนี้นั้นหยุดทำงาน ทำให้ไม่เกิดรายได้ และไม่เกิดกำไร เป็นเหตุให้คนชั้นกลางเหล่านี้ตกงานนั่นเอง ลองจินตนาการถึงปั๊มน้ำมันทั้งประเทศไม่เปิดทำการ การไฟฟ้าไม่จ่ายไฟฟ้า การประปาไม่จ่ายน้ำ กระทั่งถึงร้านค้าไม่ขายของ ร้านอาหารไม่ขายอาหาร สิ่งที่ลองจินตนาการดูก็เกือบจะใกล้เคียงกับมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐที่ผ่านมา ในช่วงเดือน เมษายน ถึง มิถุนายน ที่ผ่านมา เพียงแต่ไฟฟ้า ประปา และปั๊มน้ำมันยังเปิดบริการอยู่ แต่ร้านค้าขายชำปิด ร้านอาหารปิด โรงแรม ปิด สนามบินถูกสั่งให้ปิด ไม่ให้มีการบิน อาบอบนวด ก็ยังต้องปิด ทำให้นายทุนต้องลดค่าจ้าง เพราะรายได้ขาด บางแห่งถึงขั้นต้องลดพนักงาน หรือปิดกิจการไปเลย

ดังนั้น มาตรการล็อคดาวน์ของรัฐนั้น พูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นการเหยียบเท้าชนชั้นกลางเข้าเต็ม ๆ เพราะนอกจากจะออกมาตรการบังคับโดยใช้อำนาจเผด็จการแล้ว ยังไม่มีมาตรการชดเชยอย่างสมเหตุสมผล ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถึงขั้นต้องมาตามเอาเงินชดเชยที่กระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ไร้ความรับผิดชอบของภาครัฐ ในการที่จะยึดติดกับตัวเลขในการติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ไม่สนใจถึงความเป็นอยู่ของประชาชน จนมีคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่รัฐก็ยังบอกว่าอย่าเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียมากเกินไป1

ประเด็นของการล็อคดาวน์จึงไม่ได้อยู่ที่การต้องการควบคุมโควิด แต่เป็นการต้องการควบคุมการกระทำของประชาชน แบบที่ไม่ต้องการรับผิดชอบต่อคำสั่งที่รัฐออกไป นี่ยังไม่นับมาตรการเคอร์ฟิว ที่ไม่มีเหตุผลอันใดมารองรับ เพราะเชื้อจะไม่ระบาดหลังเวลาเคอร์ฟิวอย่างนั้นหรือ? หรือเชื้อจะระบาดในช่วงหลังเคอร์ฟิว มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จึงออกมาเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิประชาชน ให้เห็นว่ารัฐมีอำนาจที่จะทำได้ และนี่คือการเปิดเผยถึงความเป็นเผด็จการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในรัฐทุกรัฐ ไม่เฉพาะไทย ไม่ว่าจะเป็นมลรัฐที่ปกครองโดยผู้ว่าการรัฐจากพรรคเดโมแครตทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส หรืออิตาลีประเทศของอากัมเบนเองก็ตาม

ขณะเดียวกันซุปเปอร์มาร์เก็ตติดแอร์ทั้งหลาย ที่มีเจ้าของเป็นนายทุนใหญ่ไม่กี่เข้าในประเทศนี้ กลับสามารถเปิดได้เป็นปกติ ห้างสรรพสินค้า เปิดได้ก่อนที่ร้านค้า หรือสถานบริการอื่น ๆ เช่น ฟิตเนส สนามกีฬา หรือแม้แต่โรงเรียน สถานศึกษา เปิดได้ทีหลังห้างร้านของนายทุนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงพอกัน แต่เพราะเหตุใด ห้างร้านของนายทุนใหญ่ที่ผูกขาดเศรษฐกิจเหล่านั้น จึงได้มีสิทธิพิเศษได้มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยอื่น ๆ หรือแม้แต่การศึกษา ที่เป็นกลไกหลักในการให้ความรู้ประชาชน หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นกลไกหลักในการล้างสมองประชาชนของรัฐ แต่รัฐก็ยังให้ความสำคัญกับทุนใหญ่เหล่านั้นมากกว่าอยู่ดี จึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างมากว่า เผด็จการโควิดนี้ มีวาระซ่อนเร้นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการล็อคดาวน์หรือไม่?

แน่นอนว่าด้วยเหตุผลแห่งรัฐ (reason of state) ที่มีรัฐเป็นผู้ให้เหตุผลเอง ในลักษณะที่ “เหตุผลของกู ถูกเสมอ กูเป็นคนกำหนดเหตุผลของกูเอง” ดังนั้น เหตุผลของรัฐจึงชอบธรรมเสมอ เพราะรัฐเป็นผู้รับรองความชอบธรรมนั้นเอง รัฐจึงสามารถที่จะกำหนดได้ว่า จะอนุญาตให้กิจการใดเปิด หรือปิดได้ในช่วงเวลาของสภาวะยกเว้นนี้ แต่หากเรามองจากสายตาที่เป็นเหตุผลของประชาชน จะเห็นได้ชัดถึงการเลือกปฏิบัติ ที่ขยายวงกว้างของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก เช่น ในขณะที่มีการล็อคดาวน์รอบแรก ร้านค้าอื่น ๆ ถูกสั่งให้ปิด แต่กลับมีร้านค้า “กลุ่มห้าตระกูล” กลับเปิดได้ แถมยังได้ประโยชน์จากการที่ร้านรายย่อยอื่น ๆ ปิด2 หรือ ประกาศกรุงเทพมหานครฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021 ที่ให้ปิด 25 สถานที่3 แต่ปรากฏว่าห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย โรงภาพยนตร์ ไม่ต้องปิด แต่ให้ปิดสถาบันเทิง สถานการศึกษา โรงยิม สนามชนโคชนไก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก! เพราะอ้างว่า จะเป็นพื้นที่เสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งสถานที่ที่จะให้ปิด ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ของผู้ประกอบการรายย่อย กล่าวคือ เป็นการกึ่งล็อคดาวน์ ที่กึ่งของนายทุนใหญ่นั้นไม่ต้องปิด แต่กึ่งของผู้ประกอบการรายย่อย จะต้องปิด เมื่อเกิดอาการกึ่งปิดกึ่งเปิด แน่นอนว่าคนที่ออกจากบ้านไป ก็จะต้องไปหาสถานที่พักผ่อนตามธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ชอบเข้าสังคมไปพบปะกันนอกบ้าน แม้ว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกันก็ตาม แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ คนที่ออกนอกบ้าน ก็จะเหลือที่ให้ไปน้อยลง สถานที่ของผู้ประกอบการรายย่อยก็จะไม่ได้มีรายได้ เพราะถูกปิด คนก็จะเหลือตัวเลือกของสถานที่ที่จะไปไม่มาก สรุปว่า จากที่เงินจะกระจายลงไปสู่รายย่อย กลับกลายไปกระจุกรวมอยู่ที่ทุนใหญ่เช่นเดิม การกำหนดมาตรการแบบนี้ จึงเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทางของตลาดด้วย ซึ่งก็มีข้อสังเกตว่า อำนาจรัฐที่เผด็จการโควิดใช้เอื้อให้กับทุนกลุ่มห้าตระกูลนั้น มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรกับรัฐบาลหรือไม่4 อำนาจรัฐของเผด็จการโควิด จึงเป็นอำนาจเหนือตลาด ซึ่งคำว่า “อำนาจเหนือตลาด” นี้ เป็นคำที่ถูกใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว ในการควบรวมซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังของทุนใหญ่รายหนึ่ง5 โดยเป็นการหลีกเลี่ยงคำว่า “ผูกขาด”

คำว่า “อำนาจเหนือตลาด” นั้น จึงกินความหมายที่รุนแรง และมีอำนาจมากกว่าคำว่า “ผูกขาดทางการตลาด” เพราะ การผูกขาดทางการตลาดนั้น หมายความว่า ผู้ประกอบการรายนั้นยังเป็นผู้เล่นในตลาดอยู่ แต่การมี “อำนาจเหนือตลาด” หมายถึงการอยู่เหนือผู้เล่นคนอื่น ๆ ในตลาดแล้ว กล่าวคือ การเป็นองค์อธิปัตย์ของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ นั่นเอง การประกาศกึ่งล็อคดาวน์ของเผด็จการโควิดรอบนี้ จึงเป็นการใช้สภาวะยกเว้นภายใต้ข้ออ้างของโรคระบาด เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางของตลาด เอื้อให้ทุนใหญ่บางรายมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น ชนชั้นสูงในฐานะนายทุนที่มีอำนาจในการกำหนดข้อยกเว้น จึงขูดเลือดชนชั้นกลางที่ทำงานในภาคบริการ และทำงานให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการใช้อำนาจในลัทธิเผด็จการโควิด ปฏิบัติการครั้งนี้ จึงเป็นการยกระดับการขูดรีดจากแรงงาน ชนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือนยังไม่พอ ยกระดับมาขูดรีดนายทุนน้อย ผู้ประกอบการรายย่อยด้วย มันจึงเป็นการปฏิบัติการที่ต้องยืมมือโรคระบาด เพื่อปลดล็อคสภาวะยกเว้นด้วยการล็อคดาวน์บ้านเมือง เพื่อก้าวสู่สภาวะที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างแท้จริง เผด็จการโควิด จึงไม่ได้เป็นเผด็จการทั่วไปที่ห้ามแสดงออก ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ยังเป็นการห้ามค้าขาย ห้ามแข่งขันทางการตลาดของนายทุนน้อยอีกด้วย

ลำพังการติดเชื้อเพียงหลักร้อยต่อวัน ไม่กี่สิบคนในแต่ละจังหวัด ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสั่งการล็อคดาวน์แบบนี้ ในสหรัฐฯ ผู้คนติดเชื้อนับหมื่นนับแสน จึงจะมีมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งการล็อคดาวน์นั้น ก็อาจจะมีมาตรการที่ล้นเกิน เช่น ให้ใส่หน้ากากเวลาเคี้ยวอาหาร6 ในแคลิฟอร์เนีย หรือห้ามนั่งในบาร์หากไม่สั่งอาหารคือดื่มแอลกอฮอลได้ แต่หากอาหารหมด ต้องลุกออก ในอังกฤษ7 แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้นั่งในร้านอาหารเลยแบบในไทย หรือหลายรัฐก็ไม่ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์ก็ควบคุมโควิดได้ เพราะไม่ต้องการใช้โควิดเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจเผด็จการ เช่น นิวซีแลนด์ใช้วิทยาศาสตร์เช้าช่วย8 หรือสวีเดนที่พยายามไม่ริดรอดสิทธิของประชาชน9 อีกทั้งเขาเหล่านั้นก็ไม่มีอาการลักปิดลักเปิด กึ่งล็อคดาวน์แบบไทยด้วย นั่นก็เพราะเหตุผลแห่งรัฐของพวกเขานั้น อยู่บนฐานของการควบคุมโรค ซึ่งแม้จะมีความเป็นเผด็จการโควิด แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาณของวาระซ่อนเร้น ต่างกับเหตุผลของรัฐแบบไทย ๆ ซึ่งไม่มีความสมเหตุสมผลเลย กล่าวคือ “ไม่เนียนเลย”

เผด็จการโควิดในแบบไทย ๆ จึงเป็นการเปิดทางให้เกิดอำนาจเหนือตลาดเสียมากกว่าการควบคุมโรค เพราะจากการระบาดที่เป็น cluster ครั้งที่ผ่าน ๆ มา ก็มีสาเหตุมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐแทบทั้งสิ้น เช่น กรณีสนามมวย กรณีแขกวีไอพี ที่เข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้เกิดการระบาด ซึ่งรัฐการ์ดตกเอง การไม่ตรวจเชิงรุก หรือล่าสุดกรณีของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการวางนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากตั้งเป้าไว้ว่าต้องปิดประเทศ ให้ตัวเลขการระบาดเป็นศูนย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานก็ต้องการงานทำ เขาก็จะอดตายเหมือนกับชนชั้นกลางในไทยเหมือนกัน เมื่อเขาเข้ามาถูกต้องไม่ได้ จึงต้องเข้ามาแบบถูกกฎหมาย โดยจะต้องแลกกับส่วยก็ต้องแลก การวางนโยบายโดยไม่ได้ดูสภาพความเป็นจริงแบบนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาการแบ่งแยก การเหยียดแรงงานต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่แรงงานต่างชาติพวกนี้เป็นฐานที่เศรษฐกิจไทยเหยียบย่ำเสมอมา ธุรกิจต่าง ๆ ถูกสั่งให้ปิดโดยไม่มีการเยียวยา คนงานที่ถูกให้ออกก็ไม่ได้รับการชดเชย มาตรการอย่าง เราเที่ยวด้วยกันก็ผิดจุด เพราะปัญหาคือคนไม่มีเงินจะเที่ยว ไม่ใช่ไปเที่ยวแล้วต้องการลดราคา เราเที่ยวด้วยกันจึงเป็นมาตรการที่เอื้อให้คนมีเงินเดือนประจำ เช่น ข้าราชการ ที่ไม่ได้รับผลกระทบแบบชนชั้นกลางทั่วไป ซึ่งรัฐราชการก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้คนในระบบรัฐราชการไม่เข้าใจความเป็นไปเมื่อชนชั้นกลางเดือดร้อนจากมาตรการล็อคดาวน์ เมื่อรู้ตัวอีกทีผู้ที่เป็นข้าราชการ ก็อาจเป็นเครื่องมือให้กับเผด็จการโควิดเองเสียแล้ว

ดังนั้น โควิดจึงเป็นการเปิดผ้าคลุม (uncover) ที่ปิดบังสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำของไทย ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าการมีที่มาจากชนชั้นที่แตกต่างกัน จะถูกปฏิบัติจากรัฐต่างกันอย่างไร แม้ว่ารัฐจะมีสภาวะยกเว้นที่สามารถจะใช้อำนาจกับทุกคนได้ แต่หากเรามีทุนทางสังคมของรัฐมากพอ รัฐก็ยังสามารถที่จะยกเว้นสภาวะยกเว้นนั้นได้เช่นเดียวกัน เหตุผลแห่งรัฐ จึงยังคงเป็นคำตอบที่ใช้ได้เสมอกับรัฐเผด็จการทั่วไป โดยเฉพาะเผด็จการโควิด

 


Agamben, Giorgio. 2008. State of Exception. University of Chicago Press.

Schmitt, Carl. 2010. Political Theology: Four Chapters on the Concept of Sovereignty. University of Chicago Press.

1 https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/117229

2 https://asiatimes.com/2020/05/thailands-five-families-poised-to-profit-on-the-plague/

3 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915158

4 https://asiatimes.com/2019/12/thailands-five-families-prop-and-imperil-prayut/

5 https://www.isranews.org/article/isranews-article/94330-OTCC-CP-Tesco-Lotus-news.html

6 https://www.sfgate.com/food/article/Newsom-s-office-says-to-keep-masks-on-eating-15635093.php

7 https://www.standard.co.uk/reveller/bars/tier-2-rules-no-drinking-without-food-b80565.html

9 https://www.deccanherald.com/opinion/panorama/no-lockdowns-but-sweden-seems-to-have-controlled-the-covid-19-pandemic-895509.html